เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาจ้างระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และพิธีลงนามข้อตกลงคุณธรรม โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก สัญญาที่ 4 โดยมีนายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการ กทพ. และน.ส.สุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามในสัญญา

นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร ผู้ช่วยรัฐมนตรีคมนาคม ระบุว่า ต้องยอมรับปัญหาเรื่องการจราจรติดขัดช่วงดาวคะนอง-ท่าเรือ และสะพานพระราม 9 นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาวิธีการแก้ไขปัญหาจราจร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง และเชื่อมั่นว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดได้ รวมทั้งการแก้ปัญหารถติดขัดหน้าด่านเก็บค่าทางด่วนดาวคะนองได้อย่างเป็นรูปธรรม ถือเป็นก้าวสำคัญของกทพ. ที่จะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ไฮไลท์ที่สำคัญอีกจุดของโครงการดังกล่าว คือการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ ที่คู่ขนานกับสะพานพระราม 9 ก็จะช่วยลดความคับคั่งยิ่งในช่วงเวลาเร่งรีบ เพราะเพิ่มผิวการจราจร อีกทั้งในอนาคต สะพานพระราม 9 ที่เปิดใช้มาแล้ว 30 ปี ก็จะถึงเวลาซ่อมบำรุง การมีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาคู่ขนาน ย่อมลดความเดือดร้อนของประชาชนหากต้องปิดซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ อีกทั้งรูปแบบการก่อสร้างก็สอดคล้องเข้ากับสะพานพระราม 9 ถือเป็นแลนมาร์กแห่งใหม่ของกทม. อย่างไรก็ตาม ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม คือต้องคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างครั้งนี้ด้วย

ด้านนายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการกทพ. กล่าวว่า หลังจากเซ็นสัญญาก็จะเริ่มโครงการก่อสร้างให้ได้เร็วที่สุด และนับจากการเริ่มก่อสร้าง จะใช้เวลา 39 เดือนในการก่อสร้าง ถือเป็นก้าวสำคัญในการแก้ปัญหาจราจรในพื้นที่กทม.

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในอนาคต กทพ. มีโครงการก่อสร้างทางด่วน 2 ชั้น หรือดับเบิ้ลเดคช่วงทางด่วนงามวงศ์วาน เพื่อแก้ปัญหาจราจรหรือไม่ ผู้ว่าฯ กทพ. ตอบว่า เป็นเรื่องที่พิจารณากันอยู่ ซึ่งมีหลายฝ่ายเสนอมา ยอมรับว่าหากมีการก่อสร้างดับเบิ้ลเดคจริงก็จะช่วยแก้ไขปัญหาจราจรได้ เพราะเป็นการเพิ่มพื้นที่ผิวการจราจร

เมื่อถามถึงหนึ่งในข้อตกลงการเจรจาแก้ไขข้อพิพาทเรื่องค่าโง่ทางด่วนที่บริษัทรถไฟฟ้าทางด่วนกรุงเทพ (BEM) เสนอพร้อมสร้างดับเบิ้ลเดคเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดบนทางด่วน นายสุชาติ กล่าวว่า เรื่องทั้งหมดอยู่ที่กระทรวงคมนาคมจะพิจารณา เพราะได้ส่งเรื่องไปหมดแล้ว ซึ่งการสร้างดับเบิ้ลเดคเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ต้องมีการศึกษาว่าคุ้มค่าการก่อสร้างหรือไม่

เมื่อถามต่อว่า ตามสัญญาสัมปทานทางด่วนจะสิ้นสุดช่วงก.พ.2563 หากช่วงดังกล่าวไม่ได้ข้อสรุปจะดำเนินการอย่างไร นายสุชาติ กล่าวว่า ก็ต้องเปิดการจราจรต่อไป ส่วนจะเป็นวิธีไหน จะให้กทพ.เข้ามาบริหารงานเลย หรือจะจ้างบริษัทBEM ดำเนินการต่อก็ต้องพิจารณากันอีกครั้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน