กระทรวงการคลังฟุ้งมาตรการรัฐช่วยกระตุกเศรษฐกิจท้ายปีฟื้น-คาดไตรมาส 4 ขยายตัว 3.2% เติบโตสูงสุดของปีนี้

คลังฟุ้งมาตรการรัฐปลุกศก. – นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2562 จะขยายตัวได้ที่ 3.2% ซึ่งถือเป็นการเติบโตสูงสุดของปีนี้ ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยเสริมของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาในช่วงก่อนหน้านี้ ที่เชื่อว่าจะมีแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 และ 2/2563 ยังสามารถเติบโตต่อได้ รวมถึงสัญญาณเศรษฐกิจในหลายตัวเริ่มดีขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคภายในประเทศ สะท้อนจากภาพรวมการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จากการบริโภคภายในประเทศ ในเดือนต.ค. ที่ผ่านมา ที่ขยายตัวเป็นบวกที่ 6% และมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากปัจจัยเสริมดังกล่าว ทำให้เชื่อว่าตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะขยายตัวได้ที่ระดับ 2.6%

“เศรษฐกิจไทยไม่ได้ย่ำแย่ ไม่ได้เกิดวิกฤต จริงอยู่ที่อาจจะเติบโตแย่ลง ชะลอตัวลงไปบ้าง แต่ยังไม่ร้ายแรงถึงขั้นเติบโตติดลบ ซึ่งที่ผ่านมา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ก็ได้ยืนยันมาตลอด และน่าจะเห็นจีดีพีในไตรมาส 4/2562 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดีที่สุดในปีนี้” นายลวรณ กล่าว

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ประเมินว่าจะเติบโตได้ ประมาณ 3.2% ในขณะที่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงไม่แตกต่างไปจากในปี 2562 มากนัก ทั้งในเรื่องของสงครามการค้า สถานการณ์การค้าโลกที่ยังซบเซา รวมทั้งปัจจัยเรื่องค่าเงินที่ยังคงต้องติดตามอยู่เช่นกัน ส่วนปัจจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีหน้า มาจากการใช้จ่ายและการบริโภคภายในประเทศ เป็นหลัก รวมทั้งการลงทุนทั้งในระดับฐานราก เช่น การลงทุนในระดับหมู่บ้าน ชุมชน และการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ ที่เชื่อว่าในปีหน้าเม็ดเงินจะเริ่มลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง จากที่ได้มีการทำสัญญาหรือลงนามในสัญญาก่อสร้างโครงการต่างๆ กันไว้ก่อนหน้านี้

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า บริษัท S&P Global Ratings (S&P) ได้มีการปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของเศรษฐกิจไทยจากระดับมีเสถียรภาพ (Stable) เป็นเชิงบวก (Positive) ซึ่งถือเป็นการปรับความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 9 ปี และยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลในการออกตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศระยะยาวที่ BBB+ และระยะสั้นที่ A-2 รวมทั้งคงอันดับความน่าเชื่อถือสกุลเงินบาทระยะยาวที่ A- และระยะสั้นที่ A-2

โดยมีปัจจัยด้านบวกของประเทศไทยมาจากภาคการคลังที่แข็งแกร่งและระดับหนี้สาธารณะที่ต่ำ ฐานะการเงินระหว่างประเทศและสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง การดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่เหมาะสมในช่วงที่ผ่านมา และการมียุทธศาสตร์ชาติก็เป็นสิ่งที่ดี รวมทั้งการมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่น่าจะตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดี มีเสถียรภาพทางการเมืองที่น่าจะส่งผลดีกับการปฏิรูปเศรษฐกิจและการบริหารงาน เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อจากนี้ไป บริษัท S&P ประเมินว่า ควรต้องติดตามผลกระทบของสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ที่มีต่อภาคการส่งออกของไทย ขณะที่ก่อนหน้านี้ สถาบันจัดอันดับเครดิตชั้นนำต่างๆ ได้ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือที่มีต่อเศรษฐกิจไทย โดยเมื่อเดือนก.ค. 2562 บริษัท Fitch Ratings (Fitch) และบริษัท Moody’s Investors Service (Moody’s) ได้ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยจากระดับมีเสถียรภาพ (Stable) เป็นเชิงบวก (Positive) และยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยที่ระดับ BBB+ และ Baa1 ตามลำดับ และต่อมาเมื่อเดือน ต.ค. 2562 บริษัท Rating and Investment Information, Inc. (R&I) ปรับอันดับความน่าเชื่อถือของไทยดีขึ้นจากระดับ BBB+ มาเป็น A- สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อเศรษฐกิจไทย

อย่างไรก็ดี การปรับมุมมองความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยของสถาบันจัดอันดับเครดิตชั้นนำต่างๆ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และสนับสนุนให้รัฐบาลสามารถดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะต้องเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) ต่อไป เพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทยในอนาคต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน