นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2563 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ มาตรการต่อเติม เสริมทุน เอสเอ็มอี สร้างไทย เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแบบไม่จำกัดจำนวนให้สามารถแข่งขันและอยู่รอดได้ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน ภายใต้วงเงินค้ำประกันสินเชื่อและการปล่อยสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 380,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ มาตรการที่ออกมา ประกอบด้วย 1. กลุ่มเอสเอ็มอีที่ต้องการสภาพคล่อง โดยให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ขยายวงเงินค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการจ่ายค่าเสียหายเป็น 40% จากเดิม 30% วงเงิน 60,000 ล้านบาท โดยให้เข้าไปค้ำประกันให้กับลูกหนี้ที่มีศักยภาพแต่มีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง รวมถึงลูกหนี้ที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ลูกหนี้ Re-finance ที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้และได้รับอนุมัติสินเชื่อเพิ่มเติมจากสถาบันการเงิน

รวมถึงธนาคารออมสินให้สินเชื่อ Soft Loan เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรระยะที่ 2 วงเงินรวม 15,000 ล้านบาท โดยคิดดอกเบี้ยกับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ 0.1% ต่อปี เพื่อให้สถาบันการเงินคิดดอกเบี้ยกับเอสเอ็มอีในอัตรา 4% ต่อปีระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี แต่ผู้ขอสินเชื่อจะต้องดำเนินธุรกิจที่เป็น Supply Chain และธุรกิจอื่นที่นอกเหนือจากกลุ่มธุรกิจ 10 S-Curve และให้สินเชื่อผ่อนปรนภาระการจ่ายเงินต้นและเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ วงเงินโครงการ 50,000 ล้านบาท วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 50 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นที่อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าชั้นดี MLR -1% โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MLR ของธนาคารออมสินอยู่ที่ 6.375% ต่อปี ระยะเวลากู้สูงสุด 6 ปี ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี

2. กลุ่มเอสเอ็มอีที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือทันที โดยดำเนินการผ่านโครงการ PGS 5 – PGS ที่จะขยายระยะเวลาการค้ำประกันในโครงการดังกล่าวออกไปอีก 5 ปี รวมถึงยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดให้ บสย. จ่ายค่าประกันชดเชยเมื่อสถาบันการเงินดำเนินคดีกับ SMEs โดยให้สถาบันการเงินสามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่เอสเอ็มอีเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

และ 3 กลุ่มเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ ที่จะมีวงเงินสนับสนุนเอสเอ็มอีรายย่อย ผ่านกองทุน สสว. โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เป็นผู้พิจารณาสินเชื่อ วงเงินคงเหลือ 5,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี ระยะเวลากู้ไม่เกิน 7 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี

นอกจากนี้ ยังมีโครงการสินเชื่อของสถาบันการเงินต่างๆ ทั้ง ธพว. วงเงินคงเหลือ 20,000 ล้านบาท โดยปรับปรุงกลุ่มเป้าหมายให้ลูกหนี้เอสเอ็มอีที่เป็น NPL และปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วเข้าโครงการได้ โครงการสินเชื่อ SME ประชารัฐสร้างไทยของธนาคารออมสิน ที่มีวงเงินคงเหลือ 45,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี ใน 2 ปีแรก โดยกำหนดการจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อแทน SMEs เป็นระยะเวลา 4 ปี

สินเชื่อของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ที่เพิ่มวงเงินสินเชื่ออีก 10,000 ล้านบาท เป็น 60,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 4% ต่อปี โดยกำหนดการจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อแทน SMEs เป็นระยะเวลา 4 ปี

สำหรับโครงการ PGS 8 ของ บสย. สำหรับวงเงินค้ำประกันโครงการที่เหลือ บสย. จะจ่ายค่าประกันชดเชยให้กับสถาบันการเงินโดยสถาบันการเงินไม่ต้องดำเนินคดีกับเอสเอ็มอีก่อน เพื่อให้สถาบันการเงินช่วยลูกหนี้โดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แทนการฟ้องดำเนินคดี รวมถึงขยายการค้ำประกันสินเชื่อให้ครอบคลุมถึงธุรกรรมการให้เช่าซื้อ ธุรกรรมการให้เช่าแบบลิสซิ่ง และธุรกรรมแฟ็กเตอริงได้อีกด้วย

ขณะเดียวกัน บสย. จะมีวงเงินค้ำประกัน 5,000 ล้านบาท โดยค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 10 ล้านบาท รวมทุกสถาบันการเงิน โดย บสย. เป็นผู้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกันตามระดับความเสี่ยงของลูกค้าระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะพิจารณาแนวทางการกันสำรองที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในลักษณะเชิงป้องกันไม่ให้เป็น NPLs และกรณีปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่เป็น NPLs และมีการอนุมัติสินเชื่อเพิ่มเติม ทั้งของสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

ส่วนการช่วยเหลือผ่านมาตรการภาษีนั้น สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการปลดหนี้ของเจ้าหนี้ ได้แก่ ธุรกิจบัตรเครดิต ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ พร้อมทั้งยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการโอนหรือขายทรัพย์สิน การให้บริการ และการกระทำตราสาร เพื่อชำระหนี้ อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์

สำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์ที่จำนองเป็นประกันหนี้กับสถาบันการเงินให้แก่ผู้อื่น เพื่อนำเงินไปชำระหนี้แก่สถาบันการเงิน (เฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระ) รวมถึงยกเว้นการดำเนินการตามหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ที่กรมสรรพากรกำหนด สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ 5.ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดจาก 2% เหลือ 0.01% สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยให้มีผลระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 2563 – 31 ธ.ค. 2564

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า เห็นด้วยกับการดำเนินแารช่วยเหลือเอสเอ็มอีครั้งนี้ของรัฐบาล เพราะจะสามารถทำให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจได้ โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศมีทั้งหมด 3 ล้านราย มียอดขายคืดเป็น 40% ของจีดีพี ซึ่งมีผลต่อจำนวนการจ้างงานประมาณ 14 ล้านคน หรือประมาณ 80-85% ของการจ้างงานทั้งหมด ทั้งนี้หากมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวช่วยผู้ประกอบการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพจะทำให้เอสเอ็มอีเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป

“การค้ำประกันสินเชื่อเป็น 40% ทำให้แบงก์มั่นใจในการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากขึ้น ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่าจะทำให้สถานการณ์การเกิดหนี้เสียของเอสเอ็มอีลดน้อยลงได้หรือไม่ เพราะเพิ่งเคยนำมาใช้ครั้งแรกเช่นกัน แต่โดยรวมถือว่าเป็นประโยชน์ทั้งผู้ประกอบการ และแบงก์ที่มีความมั่นใจมากขึ้น”นายปรีดี กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน