จากกรณีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ “สร.กทพ.” ออกแถลงการณ์คัดค้านข้อสรุปตามแผนเจรจาต่อระยะเวลาของสัญญาสัมปทานเพื่อแลกกับการยุติข้อพิพาททางด่วนขั้นที่ 2 และทางด่วนบางประอิน-ปากเกร็ด ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (บอร์ด กทพ.) และบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายจากการที่กทพ. ถูก BEM ฟ้องร้องร่วมแสนล้านบาท พร้อมกับระบุว่าจะดำเนินมาตรการลงโทษกับพนักงานที่ไม่เดินตามแนวทาง สร.กทพ. ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2563 ที่กระทรวงคมนาคม นายชาญชัย โพธิ์ทองคำ อดีตประธาน สร.กทพ. เป็นตัวแทนกลุ่มพนักงานและลูกจ้างกทพ. ที่เห็นด้วยกับแนวทางการเจรจาเร่งยุติข้อพิพาททางด่วนเพื่อทำให้องค์กรไม่ตกอยู่ในความเสี่ยง ได้เดินทางมายื่นหนังสือเรื่องการยุติข้อพิพาทสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 และทางด่วนบางประอิน-ปากเกร็ด ถึงนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยมีนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นผู้รับมอบหนังสือดังกล่าว

นายชาญชัย ระบุว่า การยื่นหนังสือของกลุ่มพนักงานครั้งนี้ไม่ได้เป็นการขัดแย้งกับ สร.กทพ. เพียงแต่ต้องการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงออกทางความเห็นของพนักงานกทพ. ที่สามารถเห็นต่างได้ ไม่ได้ก้าวล่วงมติของ สร.กทพ. แต่อย่างใด เพียงแต่พนักงานกลุ่มที่รวมลงชื่อต้องการให้กระทรวงคมนาคมลงมาแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมเร่งด่วน ให้เรื่องจบโดยเร็ว เนื่องจากการปล่อยให้ยืดเยื้อจะสร้างผลกระทบต่อประเทศชาติและและประชาชนโดยส่วนรวม รวมถึงส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของกทพ.

สำหรับจุดยืนของกลุ่มพนักงานและลูกจ้างกทพ. ที่สนับสนุนแนวทางการแก้ไขข้อพิพาททางด่วนโดยการขยายสัมปทานให้แก่ BEM เพื่อให้ปัญหายุติโดยเร็ว มี 4 ข้อ ดังนี้

1.ข้อพิพาทเหล่านี้เกิดขึ้นจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของฝ่ายบริหารกทพ. ที่ทำให้เกิดปัญหาพิพาทกับเอกชนมาโดยตลอด และไม่แก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จ ทำให้เกิดการพิพาทยืดเยื้อมากกว่า 30 ปี มีมูลค่าสูงขึ้นทุกวัน หากไม่ได้รับการแก้ไขจะทำให้เกิดความเสียหายต่อหน่วยงาน เป็นภาระทางการเงินของภาครัฐและประชาชน ทำลายความเชื่อมั่นของการลงทุนต่างประเทศ และทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคง สวัสดิการ รายได้ของพนักงาน กทพ.

2.การเจราจาที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความล่าช้า เนื่องจากมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีในฝ่ายบริหาร กทพ. และในสหภาพแรงงาน (สร.กทพ.) จงใจกลั่นแกล้ง และให้ข้อมูลแก่สังคมในทางที่ผิดว่า ควรจะสู้คดีต่อทุกคดีโดยไม่คำนึงว่า ถ้าเกิดแพ้คดีมาใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่สร้างปัญหาพิพาทกับเอกชนมาโดยไม่แก้ไขและไม่ต้องการรับผิดชอบ หากรัฐบาลสอบสวนหาคนที่ต้องรับผิดชอบทางละเมิดจากการแพ้คดี จึงต้องการให้ กทพ. ต่อสู้คดีไปให้นานที่สุด และที่สำคัญคือต้องการกุมอำนาจเบ็ดเสร็จในการให้บริการทางด่วนเองโดยไม่มีการให้สัมปทานแก่เอกชน คนกลุ่มนี้คือคนกลุ่มที่มีผลประโยชน์จำนวนมากในการจัดซื้อจัดจ้าง ทำให้กล่มพนักงานได้รับความเดือดร้อนมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากทางด่วนสายที่ กทพ. ดำเนินการเองจะมีประสิทธิภาพการดำเนินงานและสวัสดิการที่ย่ำแย่ แม้กลุ่มพนักงานจะร้องเรียนไปที่ฝ่ายบริหารก็ไม่เคยได้รับการเหลียวแลแก้ไข

3.กลุ่มพนักงานมีจุดยืนที่ต้องการแก้ไขข้อพิพาทให้หมดสิ้นไปจากหน่วยงาน บนพื้นฐานที่เป็นธรรม ไม่ทำให้ กทพ. และรัฐเสียหาย เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อความั่นคง สวัสดิการและรายได้ของพนักงาน กทพ. และขอสนับสนุนรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมที่จะเจรจาแก้ไขปัญหาข้อพิพาทให้เสร็จโดยเร็ว โดยขอให้ดำเนินการด้วยความรอบคอบ โปร่งใส และคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของส่วนรวมเป็นหลัก และขอให้รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมดูแลอย่างให้เกิดผลกระทบต่อพนักงาน กทพ. และทำให้พนักงาน กทพ. ได้รับความมั่นคงในอาชีพการงานและรายได้สวัสดิการที่ดีตามที่เป็นอยู่ เพื่อเป็นขวัยกำลังใจในการทำงานให้แก่ประเทศชาติต่อไป

4.ขอให้ ครม. พิจารณาและมีมติ ครม. เพิ่มเงินเดือนให้พนักงานทุกคน คนละ 1 ขั้น เหมือนธนาคารออมสินที่ทำโครงการธนาคารประชาชนจนประสบความสำเร็จ เนื่องจากการทางพิเศษฯ ได้ระดมทุน TFF และการขยายสัมปทานจนประสบความสำเร็จตามนโยบายของรัฐบาล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน