นายศักดิสยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือเวิร์กช็อป เรื่องการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ว่า กระทรวงจำเป็นต้องปรับปรุงแผนขสมก. ใหม่ เนื่องจากแผนฟื้นฟูฉบับเดิมตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2562 นั้นในระยะยาวจะทำให้ ขสมก. กลับมาขาดทุนอีกตามวงจรเดิม คาดว่า ขสมก. จะนำเสนอแผนฟื้นฟูฉบับใหม่เสนอให้คณะกรรมการบริหารกิจการ (บอร์ด) ขสมก. พิจารณาอนุมัติได้ในเดือนก.พ. นี้ จากนั้นจะเสนอมาที่กระทรวงคมนาคมซึ่งจะใช้เวลาไม่เกิน1เดือนจะเสนอแผนฯ ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติได้

นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผอ.ขสมก. เปิดเผยว่า แผนฟื้นฟูฉบับใหม่จะมีการเปลี่ยนวิธีการจัดหารถโดยสาร 3,000 คัน จากจัดซื้อรถใหม่และซ่อมรถเก่า เป็นวิธีเช่ารถจากผู้ประกอบการเอกชนมาวิ่งให้บริการ โดยขสมก. จะจ่ายค่าจ้างวิ่งตามระยะทางที่ให้บริการจริง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนวิ่งให้บริการรถปรับอากาศซึ่งปัจจุบันสูงถึงกิโลเมตรละ 50.25 บาท สำหรับรถที่จะเช่านำมาวิ่งจะเน้นรถที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะเช่น รถไฮบริด, รถไฟฟ้า (EV) และรถเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) เพื่อทดแทนรถ รถเมล์เก่าของขสมก. ซึ่งมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 20-30 ปี

นอกจากนี้ จะปรับค่าโดยสารเป็นแบบเหมาจ่ายรายวัน (ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว) ราคา 30 บาท/วัน ตั๋วรายเดือน (ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว) และตั๋วรายเที่ยว เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับประชาชน รวมทั้งปรับปรุงเส้นทางเดินรถจาก 269 เส้นทาง เหลือ 104 เส้นทาง ไม่ให้ทับซ้อนกัน ซอยเป็นสายสั้นลง และเดินรถแบบการเชื่อมต่อเพื่อ ป้อนผู้ใช้บริการเข้าสู่ระบบราง ทำให้เวลาการรอรถเมล์สั้นลงเหลือ ไม่เกิน 5-10 นาที รวมทั้งยังจำเป็นต้องขอให้รัฐบาลช่วยรับภาระหนี้สินองค์กรกว่า 1.1 แสนล้านบาทต่อไป เนื่องจาก ขสมก. ไม่มีความสามารถในการจ่ายหนี้สินจำนวนดังกล่าว

“แผนฟื้นฟูใหม่จะทำให้ ขสมก. ประหยัดงบดำเนินการตามแผนฯ ได้มากถึง 1 หมื่นล้านบาท เพราะตามแผนเดิม ขสมก. ต้องใช้งบรวม 2.7 หมื่นล้านบาท คือซื้อรถใหม่/ปรับปรุงสภาพรถเก่า 1.4 หมื่นล้านบาท เช่ารถอีก 7 พันล้าน และใช้จ่ายในโครงการเออร์ลี่ รีไทร์ อีกกว่า 6 พันล้านบาท แต่แผนใหม่ใช้เงินเพียง 1.6 หมื่นล้านบาทเท่านั้น แบ่งเป็นการขอรับเงินอุดหนุน (PSO) จากรัฐบาลเป็นเวลา 5 ปี รวม 1 หมื่นล้านบาท และงบเออร์ลี่ รีไทร์ 6 พันล้านบาท”

นายสุระชัย กล่าวว่า เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด ขสมก. จะขอให้ รถร่วมบริการ ขสมก. เข้าร่วมจัดเก็บค่าโดยสารเหมาจ่าย 30 บาทตลอดวันเหมือนกับ ขสมก. แต่จะไม่ใช้มาตรการบังคับ ทั้งนี้ ยอมรับว่าถ้าหากรถร่วมฯ ไม่สนใจเข้าร่วม ก็สามารถเก็บค่าโดยสารรถเมล์ใหม่ในอัตรา 15-25 บาทต่อเที่ยวเท่าเดิม ซึ่งอาจจะทำให้ประชาชนต้องเสียค่าโดยสาร 2 รูปแบบ ซึ่งหากมีการเดินทางระยาวที่ต้องต่อรถหลายต่ออาจจะมีค่าโดยสารรวมสูง

นางภัทรวดี กล่อมจรูญ ผู้ประกอบการรถร่วมฯ และอดีตนายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง กล่าวว่า กลุ่มรถร่วมฯ จะนำรถเมล์ราว 1,500 คัน ซึ่งวิ่งให้บริการรวม 50 เส้นทางเข้าร่วมวิ่งให้บริการค่าโดยสารแบบเหมาจ่ายกับ ขสมก. เนื่องจากการรับจ้าง ขสมก. วิ่งรถนั้น มีรายได้ที่แน่นอนรวมทั้งผู้ประกอบการจะรับผิดเฉพาะต้นทุนค่าบำรุงรักษาและซ่อมรถเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ยังความเป็นห่วงเรื่องหลักเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการ ว่าจะมีข้อกำหนดที่เข้มงวดมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะหลักเกณฑ์เรื่องคุณภาพของตัวรถและคุณภาพของพนักงาน ซึ่ง ขสมก. ก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบหากต้องการให้ผู้ประกอบการรถร่วมเข้าร่วมโครงการทั้งหมด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน