นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และกระทรวงมหาดไทย นำศิลปะ วัฒนธรรมความเป็นไทย ทั้งเรื่องของประวัติศาสตร์ ตำนาน อาหาร และผ้าพื้นเมือง มาออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยว ซึ่งในระยะอันใกล้นี้เตรียมจะเปิดตัวเส้นทางขี่จักรยานเพื่อการท่องเที่ยว แต่ยังไม่ได้สรุปว่า ระยะทางในการปั่นจะยาว และผ่านจังหวัดใดบ้าง แต่เส้นทางปั้นที่คาดว่าจะออกแบบได้เสร็จก่อนเส้นทางอื่นๆ คือเส้นทางที่จะปั่นเรียบแม่น้ำโขง ในแถบจังหวัดในภาคอีสาน เพื่อบอกเล่าตำนานพญานาค

สำหรับเส้นทางจักรยานที่เตรียมจะเปิดตัว จะขี่ผ่านหลายจังหวัด อาทิ เลย นครพนม สกลนคร หนองคาย บึงกาฬ อุบลราชธานี เป็นต้น แต่ระยะทางจะเป็นเท่าไหร่ยังไม่สรุป แต่เส้นทางที่ขับผ่าน ทุกจังหวัดจะมีการเล่าเรื่องตำนานพญานาค ที่เมื่อศึกษาแล้วพบว่าพญานาคในตำนานมีมากว่า 1,000 สายพันธุ์ มีตำนานเล่าขานต่างๆ กัน อย่างที่คำชะโนด ก็เป็นอีกตำนานที่เกิดมาในอดีต และโด่งดัง จนขณะนี้คนไทยส่วนใหญ่รู้จักกันหมด

“เส้นทางจักรยานที่จะขับผ่าน มันผูกโยงกับเรื่องตำนานพญานาค จึงอยากนำกระแสของคำชะโนด ที่มีตำนานพญานาคโด่งดังในช่วงนี้ แต่ในภาคอีสานมีพื้นที่ค่อนข้างกว้างใหญ่ มีระยะทางไกลกันมากจากจุดไปถึงอีกจุด จึงจะหยิบเรื่องของผ้าถิ่นมาร้อยเรื่องราว และบางพื้นที่มีเรื่องของอาหารถิ่น ก็จะนำออกมา เพื่อแสดงให้นักปั่นเห็น และได้ลิ้มรส ความหลากหลายของอาหาร อาทิ ส้มตำ ในแต่ละถิ่นก็มีความแตกต่างกัน”

นางกอบกาญจน์ กล่าวว่า ปี 2560 คาดการณ์ว่ารายได้ท่องเที่ยวภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะอยู่ที่ 7.45 หมื่นล้านบาท และด้วยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวของนักท่องเที่ยวยังต่ำเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ทำให้ต้องผลักดันการปรับปรุงแนวทางนำเสนอสินค้าท้องถิ่นให้มีความน่าสนใจ รวมถึงการขยายตลาดกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติม เช่น งานประเพณีบุญบั้งไฟ ที่จ.ยโสธร ระหว่างวันที่ 12-14 พ.ค.ที่ผ่านมา เป็นงานประเพณีเก่าแก่และได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวกว่า 5 หมื่นคน เติบโตราว 12% แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นตลาดคนไทยอยู่ ส่วนคนต่างชาติมีจำนวนราว 2,000 คนเท่านั้นจากยุโรป, อเมริกา และญี่ปุ่น

ดังนั้น จึงมีศักยภาพในการส่งเสริมให้ตลาดต่างชาติรู้จักได้อีกมาก โดยจะใช้โอกาสที่เมืองยโสธรเป็นเมืองคู่แฝดด้านวัฒนธรรมกับเมืองชิชิบุ ในจังหวัดไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น ขยายความร่วมมือนำชาวญี่ปุ่นเดินทางมาภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น หลังจากที่ในระดับจังหวัดมีการแลกเปลี่ยนนำคณะมาเยี่ยมชมประเพณีที่ทั้งไทยและญี่ปุ่นมีการจุดบั้งไฟคล้ายกันอยู่แล้วทุกปี แต่จะพัฒนาสินค้าถิ่นอื่นๆ ให้เป็นที่รับรู้มากขึ้น เช่น ผ้าเบี่ยงบุญ, กระติ๊บสาน ซึ่งเป็นของที่ชาวบ้านใช้อยู่แล้ว ให้มาเป็นสินค้าของฝากที่ระลึกที่ต้องจับจ่ายเมื่อมาท่องเที่ยว เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน