นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำของอ่าว กรมประมงประกาศปิดอ่าวในช่วงฤดูการวางไข่มาอย่างต่อเนื่อง โดยแยก เป็นอ่าวอันดามัน และอ่าวไทย โดยอ่าวไทยแยกออกเป็น 3 ตอน คือ 1.อ่าวไทยตอนบน หรืออ่าวด้านใน หรืออ่าวไทยรูปตัว ก. ประกอบด้วย ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี 2. อ่าวไทยตอนกลาง ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎ์ธานี 3. อ่าวไทยตอนล่าง ไม่มีการประกาศปิด ประกอบด้วย นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส

ทั้งนี้ ในส่วนของอ่าวไทยรูปตัว ก. นั้น เริ่มประกาศปิดเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา (2556-2559) ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.-31 ก.ค. เป็นระยะเวลา 2 เดือน พื้นที่ 4,940.55 ตารางกิโลเมตร 8 ล้านไร่ โดยห้ามใช้เครื่องมือบางประเภทในการจับสัตว์น้ำ อย่างไรก็ตาม ผลดำเนินการพบว่าปลาทูซึ่งเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ มีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

โดยคาดว่าเป็นผลจากหลายปัจจัยประกอบด้วย 1.ปลาที่ลงไปว่างไข่ด้านล่างของทะเล มีน้อยลง เนื่องจากชาวประมงพัฒนาอวนให้จมทะเลเพื่อให้สามารถจับปลาได้มากขึ้น ส่งผลให้มีการจับปลาพ่อ แม่พันธุ์ ที่โดยธรรมชาติจะว่ายลงก้นทะเลเพื่อวางไข่

2.ช่วงที่เปิดอ่าว ตัว ก. ชาวประมงเข้าไปจับปลาในอ่าวในลักษณะรุมสกรัม ทำให้ปลาหลุดรอดจากอวนเพื่อเป็นพ่อ แม่ พันธุ์ในรุ่นต่อไปได้ยาก 3. ภาวะโลกร้อน ทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลปรับเพิ่มขึ้นปลาทูที่ไม่ชอบน้ำที่ร้อนก็อพยพหนีไปเข้าสู่ทะเล อินโดนีเซีย มาเลเซีย ซึ่งเป็นตอนล่างของอ่าวไทย

4. ภัยแล้งที่รุนแรงมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธาตุอาหารที่ไหลลงอ่าวไทยมีน้อยลง อาหารสำหรับปลาไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนในอดีต ทำให้การแพร่พันธุ์ได้ยาก และ 5. มลพิษที่มากขึ้นทำให้วงจรชีวิตสัตว์น้ำเปลี่ยนไป

ทั้งหมดนี้กรมประมงอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับชาวประมงเพื่อเปลี่ยนรูปแบบการปิดอ่าวตัว ก. ดังกล่าว จากที่ประกาศปิดพร้อมกันเป็นระยะเวลา 2 เดือน จะปรับให้มีการปิดอ่าวตามเส้นทางการอพยพของปลาทูเป็นหลัก ในเบื้องต้นคาดว่าจะประกาศปิดทางฝั่งซ้ายตั้งแต่ เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และสมุทรปราการ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.-31 ก.ค. หลังจากนั้นจะเปิดและหันมาประกาศปิดในฝั่งขวา ตั้งแต่ กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.-30 ก.ย. เป็นต้นไป

ในขณะที่ชาวประมงต้องเปลี่ยนตาอวนให้มีขนาด 2 นิ้วขึ้นไปเท่านั้น เพื่อให้ปลาทูและสัตว์น้ำอื่นๆ มีโอกาสหลุดรอดเป็นพ่อ แม่ พันธุ์ในปีต่อไป ห้ามใช้เรือปั่นไฟ แต่สามารถใช้เรือไดหมึกได้ ทั้งหมดจะหารือให้แล้วเสร็จภายในเดือนนี้ ในขณะที่ปลาทูมีปริมาณการจับและจำหน่ายในประเทศประมาณปี 1 แสนตัน
สำหรับอ่าวไทยตอนกลาง ที่ดำเนินการปิดระหว่างวันที่ 15 ก.พ.-15 พ.ค. ของทุกปีนี้น ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 26,400 ตารางกิโลเมตร โดยกรมประมงประกาศเปลี่ยนการใช้เครื่องมือให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบันในส่วนของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี โดยเฉพาะเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทำการประมงในเขตระยะ 7 ไมล์ทะเล นับจากแนวชายฝั่งทะเลใน

ส่วนผลจากการดำเนินควบคุมเฝ้าระวังการทำการประมงตามมาตรการปิดอ่าวไทยของกรมประมง จากการปฏิบัติงานทั้งสิ้น 52 ครั้ง พบการกระทำความผิดรวม 11 คดี

นอกจากนี้ เพื่อให้การอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำมีประสิทธิภาพ โดยครอบคลุมพื้นที่มากยิ่งขึ้น จึงต้องออกประกาศ เรื่อง กำหนดเครื่องมือ ทำการประมง วิธีการทำการประมง และพื้นที่ทำการประมง ที่ห้ามจับสัตว์น้ำบางแห่งของประจวบคีรีขันธ์ เพิ่มเติมจากเดิม และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.- 30 มิ.ย. 2560 โดยห้ามใช้เครื่องมืออวน ทุกชนิดที่ใช้ประกอบเรือกลทำการประมง และห้ามใช้เครื่องปั่นไฟ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน