นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานการประชุมเจรจาจับคู่ธุรกิจไทย-จีน “Thailand Cross Border Trade & Investment Conference” จัดโดย ธนาคารแห่งประเทศจีน (Bank of China) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่า ประเทศไทยเห็นความสำคัญของกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ที่เป็นห่วงโซ่การผลิต (ซัพพลายเชน) สำคัญที่สุดในเอเชีย ซึ่งเราต้องการให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกไปยังซีแอลเอ็มวี ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ไม่ใช่เพียงจุดใดจุดหนึ่ง โดยการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ของไทย ให้มีความแข็งแรง

ทั้งนี้ ไทยจึงต้องการพาร์ตเนอร์ต่างประเทศที่ดี อย่างจีนเข้ามาช่วยเหลือ เนื่องจากต้องยอมรับว่ากลุ่มเอสเอ็มอีในประเทศไทยยังเติบโตไม่สูงนัก ถ้าเทียบกับการจะก้าวไปสู่ยุค ไทยแลนด์ 4.0 ขณะเดียวกันยังเป็นการพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการหน้าใหม่ (สตาร์ตอัพ) ของทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งการผลิต การบริการและการท่องเที่ยวอีกด้วย ซึ่งเชื่อว่าหากมีการร่วมมือกันระหว่างเอสเอ็มอี ไทยและจีน จะส่งผลให้เกิดการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาได้ในอนาคต เจาะกลุ่มตลาดซีแอลเอ็มวีได้

“ผมมีความฝันว่าเมื่อไหร่ที่กลุ่มเอสเอ็มอี สตาร์ตอัพ ระหว่างจีนและไทยได้มีโอกาสมาพบกับการพบปะกัน จะช่วยให้เกิดความร่วมมือกันในอนาคต ซึ่งเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่จะสนับสนุนให้เกิดการพัฒนานอกเหนือจากการสนับสนุนทางด้านการเงิน”นายสมคิด กล่าว

โดยการจัดงานดังกล่าวมีนักธุรกิจจากประเทศจีน กว่า 300 รายเข้าร่วม ซึ่งนับว่าเป็นคณะที่ใหญ่เป็นประวัติศาสตร์ โดยเป็นการจับคู่ธุรกิจร่วมกับประเทศไทย ให้เกิดการค้าและการลงทุน โดยธนาคารแห่งประเทศจีน จัดงานดังกล่าวแล้วกว่า 30 ครั้งทั่วโลก ซึ่งจะเป็นความร่วมมือระยะยาวในรูปแบบหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ และเอื้อประโยชน์การลงทุนในพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อให้ผสานโครงการเส้นทางสายไหม (วันเบลท์ วันโรด) ของจีน ให้เป็นเนื้อเดียวกัน โดยเฉาะกลุ่มคมนาคม ระบบราง และระบบอินเตอร์เน็ต ให้เชื่อมโยงระบบเป็นโครงการขนาดใหญ่

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า นักธุรกิจที่เข้าร่วมงานครั้งนี้ มีการพูดคุยกันมาบ้างแล้ว 2-3 ครั้งผ่านวีดีโอ คอนเฟอเรนซ์ และมีการเตรียมตัวกว่า 3 เดือน ก่อนที่จะมาพบกันครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมีนักธุรกิจอย่างน้อย 20-30 ราย จะเริ่มลงทุนร่วมกัน โดยทั้งหมดจะได้รับเงินสนับสนุนเบื้องต้นจากธนาคารแห่งประเทศจีน ในช่วงเริ่มแรก

“กลุ่มเอสเอ็มอีของจีนจะมีขนาดใหญ่ระดับ 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการไทยที่จะมีพาร์ตเนอร์ขนาดใหญ่คอยสนับสนุน ซึ่งก็มีการร่วมมือกับบีโอไอ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เพื่อสนับสนุนการลงทุน ทั้งนี้ ทางกระทรวงอุตสาหกรรม จะมาดูแลหากการจับคู่ธุรกิจดังกล่าวถูกต่อยอดไปยังการลงทุนในพื้นที่อีอีซี”นายคณิศ กล่าว

นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการ บีโอไอ กล่าวว่า นอกจากการมาจับคู่ธุรกิจและดูลู่ทางการลงทุนในไทยแล้ว บีโอไอยังจะนำคณะของธนาคารแห่งประเทศจีนไปเยี่ยมชมพื้นที่อีอีซี และรับฟังนโยบายส่งเสริมการลงทุน ซึ่งนักธุรกิจจีนส่วนใหญ่ให้ความสนใจแผนการเตรียมพื้นที่การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ ของภาครัฐ เพราะมีความโดดเด่นด้านภูมิศาสตร์และเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพจากการสนับสนุนของรัฐบาล”นางหิรัญญา กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน