นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และองค์การเภสัชกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลนในช่วงที่ไวรัสโคโรนาระบาดว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบร่วมกับให้จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัย โดยมีอธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นประธานศูนย์ เพื่อทำหน้าที้เป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการ จัดสรร ประสานกับโรงงานผู้ผลิตในการทำให้หน้ากากอนามัยมีเพียงพอกับความต้องการใช้ของประชาชนในประเทศและมีราคาที่เป็นธรรม ซึ่งการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวจะทำควบคู่กันไปกับการบังคับใช้พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 หลังประกาศให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม โดยการจำกัดปริมาณการส่งออก ซึ่งได้แจ้งให้ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการ มารายงานสต๊อก ปริมาณการส่งออก การผลิต ต้นทุน ไปแล้วและขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล ซึ่งย้ำว่าการจำกัดปริมาณการส่งออกจะพิจารณาเป็นรายๆ ไปเพราะเข้าใจดีว่าที่ผ่านมาธุรกิจหน้ากากอนามัยซบเซามานาน เพิ่งมาฟื้นตัวในช่วงที่มีฝุ่นพิษและโรคระบาดเกิดขึ้น ทำให้มีคำสั่งซื้อเข้ามามากทำให้การส่งออกจากในปี 2562 พุ่งเป็นกว่า 200 ล้านชิ้น หรือ 3 เท่าจากปี 2561 ที่ส่งออกเพียง 70 กว่าล้านชิ้น

ทั้งนี้ การพิจารณาจำกัดการส่งออกจะทำไปด้วยความเป็นธรรมหากโรงงานมีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าไปแล้วก่อนที่ไวรัสจะบาดก็จะอนุโลมให้ส่งออกได้แต่ให้ยอมรับว่าอาจไม่ครบตามจำนวนที่ได้ทำสัญญาไว้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของเอกชนที่จะต้องเจรจากับคู่สัญญา และมั่นใจว่าคู่สัญญาจะเข้าใจ เพราะขณะนี้ทุกประเทศต่างก็ต้องการให้มีหน้ากากอนามัยพอใช้สำหรับคนในประเทศ และบางประเทศเช่น ไต้หวัน รัฐบาลออกคำสั่งห้ามส่งออก 100% ไปแล้ว ถือว่าเป็นมาตรการขั้นเด็ดขาด แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่เห็นขั้นนั้น เพราะเอกชนก็ให้ความร่วมมือในการจัดสรรหน้ากากอนามัยมาจำหน่ายในประเทศอยู่แล้ว โดยล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดคิกออฟเปิดขายหน้ากากอนามัยให้กับประชาชน เป้าหมาย 10 ล้านชิ้นทั่วประเทศ โดยเริ่มจำหน่ายในวันเสาร์ที่ 8 ก.พ. 2563 ณ ลานเอนกประสงค์ ชั้น 3 กระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่เวลา 9.00 น. เป็นต้นไป และจะกระจายไปทุกอำเภอทั่วประเทศ ผ่านร้านธงฟ้าลดค่าครองชีพ ในราคา 2.50-5 บาท/ชิ้น ตามคุณภาพ โดยเบื้องต้นจะจำหน่าย 2 ล้านชิ้น ในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนก.พ. 2563 และจะทยอยส่งให้ครบตามเป้าหมายภายในเดือนก.พ.นี้ โดยในวันนี้ (7ก.พ.) ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ทหารจากกรมพลาธิการทหารบก ส่งเจ้าหน้าที่ทหารมา 50 นาย เพื่อบรรจุหน้ากากอนามัยแบ่งขาย 10 ชิ้นต่อถุง ซึ่งล็อตแรกกำหนดเตรียมไว้จำหน่าย 5 แสนชิ้น

นายวิชัย กล่าวอีกว่าหลังจากประกาศให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุมก็มีประชาชนแจ้งผ่านสายด่วน 1569 ว่ามีผู้ค้าหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ล้างมือกักตุนสินค้าและปั่นราคาขายสูงกว่าความเป็นจริง สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งกรมการค้าภายในได้ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ส่งหน่วยเคลื่อนที่เร็วออกไปหาข้อเท็จจริงตามเบาะแสที่ได้รับแจ้งในเขต กทม. และปริมณฑล ในช่วงระหว่างวันที่ 5-6 ก.พ. 2563 รวม 218 ราย ปรากฏว่ามีผู้กระทำผิดตามที่มีการร้องเรียนจริง จำนวน 10 ราย ในเขตพื้นที่ลาดกระบัง ประเวศ ราชเทวี บางรัก พญาไท สัมพันธวงศ์ และพื้นที่นนทบุรี ในบริเวณตลาดนัดกระทรวงพาณิชย์ โดยพฤติกรรมที่ตรวจสอบมีการขายหน้ากากสูงเกินสมควร สร้างความปั่นป่วนในราคาซื้อขายและมีบางรายมีสินค้าแต่ปฏิเสธการขาย แต่จะขายให้ในราคาที่ต้องการ คณะตรวจสอบจึงได้จับกุมผู้กระทำความผิดทั้ง 10 ราย ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อดำเนินคดีในกระทงความผิดเกี่ยวกับการสร้างความปั่นป่วนราคาขายให้สูงกว่าความเป็นจริง ในมาตรา 2 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ซึ่งโทษนี้รวมถึงบุคคลที่นำหน้ากากอนามัยไปขายในช่องทางออนไลน์ด้วยซึ่งก็ต้องมาแจ้งข้อมูลเช่นกัน และหากพบกระทำความผิดก็จะส่งเจ้าหน้าที่เคลื่อนที่เร็วออกไปตรวจสอบ เนื่องจากขณะนี้พบว่าในโลกโซเชียลมีการโพสต์ขาย โพสต์ขอซื้อหน้ากากอนามัยจำนวนหลายแสนชิ้นต่อราย ซึ่งกรมจะรวมกับกองบัญชาการปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยี ตรวจสอบผู้ค้าว่าเข้าข่ายหรือไม่ รวมทั้งผู้ที่โพสต์ข่าวเท็จเพื่อปั่นราคาเป็นจำนวนมาก ทั้งในพื้นที่กรุงเทพ และต่างจังหวัด กระทรวงพาณิชย์ได้สั่งการเป็นกรณีเร่งด่วนให้พาณิชย์จังหวัด ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ตำรวจ จัดคณะเคลื่อนที่เร็วออกตรวจสอบผู้มีพฤติกรรมปั่นป่วนราคาขายตามที่มีข้อร้องเรียน และดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่กระทำความผิดอย่างจริงจังและเข้มงวดอีกทางหนึ่งด้วย

“เท่าที่มีการตรวจสอบมีการโพสต์หาซื้อหน้ากากอนามัยครั้งละหลายแสนชิ้น อ้างว่าจะนำไปบริจาคหรือทำกิจกรรมเพื่อสังคมทั้งในและต่างประเทศ แต่เท่าที่มีการตรวจสอบเบื้องต้นกลับพบว่าเป็นการกว้านซื้อเพื่อนำไปขายต่อทำกำไร ถือว่าเข้าข่ายเฟกนิวส์ หรือข่าวปลอม ซึ่งกรมก็จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อคนกลุ่มนี้สร้างความปั่นป่วนสร้างความสับสนให้กับประชาชน” นายวิชัย กล่าว

นายวิชัย กล่าวอีกว่า เพื่อลดปัญหาการหาซื้อหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ล้างมือของผู้ที่จำเป็นต้องป้องกันตนเอง จึงขอให้ร้านค้าจัดให้มีปริมาณเพียงพอและจำหน่ายในราคาที่เป็นธรรม หากผู้ซื้อพบการกระทำที่ไม่ถูกต้องมีการตั้งราคาสูงเกินจริง หรือกักตุนสินค้า ขอให้แจ้งสายด่วน 1569 เพื่อกรมจะได้จัดส่งคณะเคลื่อนที่เร็วออกไปดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ฝ่าฝืนในทันที

นอกจากนี้ นายวิชัย ยังกล่าวถึงกรณี พระครูบุญญาภิราม หรืออาจารย์แดง เจ้าอาวาสวัดถ้ำเขาเต่า หมู่บ้านเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้โพสต์คลิปผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “แดง จิตต์วารินทร์” เพื่อขอให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ตรวจสอบร้านค้าที่จำหน่ายสังฆทาน เพื่อนำมาถวายแด่พระสงฆ์ หลังจากพบว่าสังฆทานที่ญาติโยมซื้อมาจากร้านค้าชื่อดังแห่งหนึ่งในตลาดอำเภอปราณบุรี มีพฤติกรรมเอาเปรียบผู้บริโภค ด้วยการบรรจุสินค้าให้ดูภายนอกเหมือนมีสินค้าเต็มกล่อง แต่ความจริงคือมีสินค้าไม่กี่อย่าง มีต้นทุนไม่เกิน 25 บาท คือมีน้ำ 1 ขวด น้ำขิง 1 ซอง ยา 1 แผง สำลี 1 ก้อน แต่มีการจำหน่ายกล่องละ 100 บาท โดยนายวิชัย กล่าวว่าที่ผ่านมากรมการค้าภายในลงพื้นที่ตรวจสอบร้านสังฆภัณฑ์เป็นประจำอยู่แล้ว และพบว่ามีเหตุการณ์ลักษณะคล้ายกันเกิดขึ้นบ่อยครั้งซึ่งยอมรับว่าในบางกรณีก็อยู่เหนือการควบคุมหรือกำกับดูแลของกรมก็จะประสานกับสคบ.เข้าไปตรวจสอบ แต่หากกรณีใดที่อยู่ในอำนาจที่กรมดำเนินการได้ก็จะดำเนินการตามกฎหมายทันที

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน