นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงการนำระบบตั๋วร่วม หรือบัตรแมงมุม มาใช้เชื่อมต่อการเดินทางสาธารณะ ว่า กระทรวงคมนาคมตั้งเป้าที่จะเริ่มนำระบบตั๋วมามาให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการค่าครองชีพรถเมล์และรถไฟฟรี ที่จะสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. และรองรับการเริ่มใช้บัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย ตามนโยบายของรัฐบาลที่ตั้งเป้าเริ่มให้บริการตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้ เป็นต้นไป

เบื้องต้นตั๋วร่วมจะใช้ได้กับการเดินทาง 5 ระบบคือ 1. รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือรถไฟฟ้าใต้ดิน (เอ็มอาร์ที) 2. รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ 3. รถไฟฟ้าสายสีเขียว (บีทีเอส) 4. รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรียล ลิงก์ และ 5. รถเมล์เอ็นจีวีขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) แต่ในส่วนของระบบรถไฟฟ้า 4 เส้นทาง จะใช้บัตรแมงมุมได้เฉพาะบริเวณสถานีร่วมก่อนเท่านั้น ยังไม่สามารถใช้ได้ครบทุกสถานีตลอดทุกสายทาง

“ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. นี้ จะใช้บัตรแมงมุมได้กับรถไฟฟ้าได้ทั้ง 4 เส้นทาง แต่จะนำร่องได้เฉพาะบริเวณสถานีร่วมก่อน เช่น สถานีจตุจักร, หมอชิต, อโศก, พญาไทย เป็นต้น เพราะเบื้องต้น สนข. เร่งรัดให้รถไฟฟ้า 4 สายหลัก ติดตั้งเครื่องอ่านบัตรแมงมุมบริเวณสถานีร่วมก่อน เพื่อให้เปิดใช้ได้ทันในวันที่ 1 ต.ค. ตามที่รัฐบาลกำหนด จากนั้นจะเร่งทยอยรัดติดตั้งในสถานีที่เหลือต่อไป ต้องยอมรับว่าการติดตั้งระบบของผู้ให้บริการแต่ละราย มีความซับซ้อนและต้องใช้เวลามาก คาดว่าจะติดตั้งได้ครบสมบูรณ์ทุกสถานีในเดือน มี.ค. 2561”

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า ทั้งนี้ หากการติดตั้งระบบตั๋วร่วมเสร็จสมบูรณ์มั่นใจว่าจะดึงดูดประชาชนให้เข้ามาใช้บริการมากขึ้น เพราะมีความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทาง ทั้งรถไฟฟ้า รถเมล์ และ เรือ ซึ่งระบบการอ่านบัตรตั๋วร่วมจะมีการจัดเก็บข้อมูลการเดินทางของประชาชน ทำให้ สนข. สามารถนำข้อมูลการเดินทางมาประเมินแนวโน้มรายได้ของผู้ให้บริการแต่ละรายได้ หากพบว่ารายไหนมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในอนาคต สนข. อาจจะนำข้อมูลแนวโน้มรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาเจรจาต่อรองขอให้ผู้ให้บริการปรับลดอัตราค่าบริการลงได้ เพื่อช่วยลดภาระให้กับประชาชน ทั้งนี้ เชื่อว่าค่าบริการที่ถูกลงยังช่วยกระตุ้นให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการมากขึ้นอีกด้วย ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ให้บริการโดยตรง

สำหรับบัตรสวัสดิรัฐสำหรับผู้มีรายได้น้อยนั้นจะสามารถนำมาใช้กับระบบตั๋วร่วมได้ ทั้ง 5 ระบบ โดยรัฐจะมีวงเงินในบัตรให้ผู้มีรายได้ในแต่ละเดือน นำไปใช้บริการตั๋วร่วม เมื่อนำบัตรไปแตกับระบบตั๋วร่วมก็จะถูกตัดเงินตามอัตราค่าโดยสาร หากผู้มีรายได้น้อยเลือกใช้บริการรถไฟฟ้า ซึ่งมีราคาสูงกว่ารถเมล์อาจจะทำให้เงินในบัตรหมดเร็ว ดังนั้นหากต้องการประหยัดค่าเดินทาง และให้บัตรสามารถใช้ได้นานควรใช้กับบริการรถเมล์ ขสมก. เนื่องจากมีอัตราค่าโดยสารถูกกว่ารถไฟฟ้า

นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า ขณะนี้ ขสมก. กำลังเร่งรัดการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีจำนวน 489 คัน คาดว่าจะเปิดประมูลได้ไม่เกินกลางเดือนมิ.ย. และได้ตัวผู้ชนะเดือน ก.ค.นี้ โดยตั้งเป้ารับรถล็อตแรก 100 คันภายในปีนี้ และนำทำการติดตั้งอุปกรณ์อ่านบัตรตั๋วร่วมให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนก.ย. นี้ เพื่อให้รถเมล์เริ่มใช้ระบบตั๋วร่วมได้ตั้งแต่ 1 ต.ค. นี้ เป็นต้นไป ภายหลัง มาตรการค่าครองชีพรถเมล์และรถไฟฟรีสิ้นสุดลงในวันที่ 30 ก.ย. นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน