นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อทดสอบความสนใจของภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (Market Sounding) โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่สายสีแดง (รถไฟฟ้าแทรมสายสีแดง) เส้นทางโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี ว่า คาดว่าจะสรุปผลการศึกษาแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน (พีพีพี) เสนอให้กระทรวงคมนาคม จากนั้นเสนอเข้าบอร์ดพีพีพี และเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติในช่วงกลางปี 2564 ตั้งเป้าที่จะเปิดประมูลปลายปี 2564 และเริ่มงานก่อสร้างกลางปี 2565 ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2570

สำหรับรถไฟฟ้าแทรมสายสีแดง โรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี มีวงเงินลงทุน 2.7 หมื่นล้านบาท แบ่งออกเป็น 1. งบเวนคืนที่ดินวงเงิน 4.4 พันล้านบาท ซึ่งนำมาใช้ในการเวนคืนที่ดินบริเวณแยกหนองฮ่อ จำนวน 25 ไร่ และพื้นที่ทำทางขึ้นและลงสถานีใต้ดิน 2. งานติดตั้งระบบรถไฟฟ้า 5 พันล้าน 3. งบงานโยธา 1.5 หมื่นล้านบาท และ4. และอื่นๆ 2.6 พันล้านเช่น ค่าจ้างที่ปรึกษา

“โครงการนี้มีผลตอบแทนการลงทุนทางเศรษฐกิจประมาณ 13% โดย รฟม. จะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนงานโยธา และงานระบบรถไฟฟ้า ให้สัมปทานรวม 30 ปี ซึ่งขณะนี้มีเอกชนทั้งในเชียงใหม่ และส่วนกลางสนใจเข้าร่วม โดยเฉพาะเอกชนที่ผลิตรถไฟฟ้า ซึ่งแทรมเส้นนี้จะมีระยะทางรวม 16 กิโลเมตร จำนวน 16 สถานี เก็บค่าโดยสารระระหว่าง 15-30 บาท คาดว่าปีแรกจะมีจำนวนผู้โดยสารวันละ 1.6 หมื่นคน”

สำหรับสถานีทั้ง 16 แห่ประกอบด้วย ทางวิ่งระดับดิน 9 สถานี ประมาณ 9 ก.ม. ได้แก่ สถานีโรงพยาบาลนครพิงค์, ศูนย์ราชการ จ.เชียงใหม่, สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี, ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ, แยกหนองฮ่อ, โพธาราม, ท่าอากาศยานเชียงใหม่, บ้านใหม่สามัคคี และแม่เหียะสมานสามัคคี ส่วนระดับใต้ดิน 7 สถานี ระยะทาง ประมาณ 7 ก.ม. ได้แก่ สถานีข่วงสิงห์, มหาวิทยาลัยราภัฎเชียงใหม่, ขนส่งช้างเผือก, มณีนพรัตน์, ประตูสวนดอก, แยกหายยา และแยกท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่

นายธีรพันธ์ กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างแทรมโคราช สายสีเขียว ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ วงเงินลงทุน 8 พันล้านบาท ระยะทางรวม 11.17 ก.ม. ว่า อยู่ระหว่างจัดทำการศึกษารูปแบบการลงทุนคาดว่าจะสรุปผลการศึกษาเสนอให้บอร์ดรฟม. พิจารณาอนุมัติปลายปีนี้ และเสนอให้ครม. พิจารณาอนุมัติปลายปี 2564 และเปิดประมูลหาเอกชนร่วมลงทุนในปี 2565 ส่วนแทรมพิษณุโลก สายสีแดง ช่วงม.พิษณุโลก-เซ็นทรัลพลาซ่า วงเงิน 1.56 พันล้านบาท ระยะทาง 12.6 กิโลเมตร นั้น ในเดือน นี้ รฟม. จะนำเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดพิษณุโลก พ.ศ. … เพื่อให้อำนาจ รฟม.ในการเข้าไปดำเนินโครงการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน