นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. มีแนวคิดที่จะพิจารณาปรับโครงสร้างการใช้ไฟฟรี เพื่อให้เข้าถึงผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริงตามนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้กฟผ. ไปพิจารณาเรื่องนี้ใหม่ โดยจะให้สิทธิสำหรับผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น จากปัจจุบันครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่ถึง 50 หน่วยจะได้ใช้ไฟฟรี ซึ่งเรื่องนี้อยู่ระหว่างพิจารณาความเป็นไปได้ทั้งหมด หากได้ข้อสรุปแล้วจะหารือกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลค่าไฟฟ้าอีกครั้ง

“หลักเกณฑ์ใหม่จะพิจารณาให้เฉพาะผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น ที่ได้รับอัตราค่าไฟราคาพิเศษ ไม่ใช่ว่าจะได้ทุกครัวเรือนที่ใช้ไฟไม่เกิน 50 หน่วย เนื่องจากปัจจุบันมีเจ้าของบ้านบางราย มีบ้านหลายหลัง บางหลังใช้ไฟไม่ถึง 50 หน่วย ได้รับอานิสงส์ใช้ไฟฟรีไปด้วย แบบนี้ถือว่าไม่ตอบโจทย์การช่วยเหลือของรัฐบาล จึงต้องมาทบทวนใหม่ แต่จะเป็นรูปแบบใด และจะนำหลักเกณฑ์ใดมาวัดผู้มีรายได้น้อย เช่น พิจารณาจากผู้มีสิทธิถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) ตอนนี้ก็ยังตอบไม่ได้ว่า จะยกเลิกใช้ไฟฟรี 50 หน่วยเลยหรือไม่ หรือจะให้เฉพาะผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น หรือจะคิดค่าไฟอัตราพิเศษให้ผู้มีรายได้น้อยแยกออกมา”

สำหรับความคืบหน้าการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ของกระทรวงพลังงานนั้น คาดว่าจะไม่กระทบโรงไฟฟ้าหลักทั้ง 8 แห่งของกฟผ. ซึ่งตามขั้นตอนกลางปีนี้น่าจะสามารถเสนอเงินลงทุนให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติได้

ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานบอร์ดกฟผ. กล่าวว่า ภายในเดือนก.พ.นี้ คาดกฟผ. และกกพ. จะศึกษาการปรับเงื่อนไขการใช้ไฟฟ้าราคาถูกสำหรับผู้มีรายได้น้อยแล้วเสร็จ

ส่วนความคืบหน้าโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากที่มีเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้า 700 เมกะวัตต์นั้น วันที่ 17 ก.พ.นี้ ตนมีกำหนดการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เพื่อพิจารณารายละเอียดร่างหลักเกณฑ์ (ทีโออาร์) โรงไฟฟ้าชุมชนโดยเฉพาะโครงการรูปแบบเร่งรัดหรือกลุ่มควิกวิน ที่จะเร่งเปิดประมูลให้โรงไฟฟ้าดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (ซีโอดี) ได้ภายในปีนี้ และจากนั้นจะเป็นโรงไฟฟ้าทั่วไปที่จะก่อสร้างและจ่ายไฟได้ในปี 2564

“ยืนยันเกณฑ์ที่จะหารือจะต้องดูว่าชุมชนจะได้รับประโยชน์สูงสุดอย่างไร มีสายส่งรองรับหรือไม่ เมื่อเชื้อเพลิงมีแล้วเกิดปัญหาภัยแล้งจะซื้อมาจากที่อื่นได้หรือไม่ ต้องกำหนดให้ชัดเจน ป้องกันปัญหาความไม่โปร่งใสตามที่มีข่าวว่ามีการวิ่งเต้น เพื่อให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชน 100 แห่งแห่งละไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ตามเป้าหมายที่กระทรวงพลังงานวางไว้”

นอกจากนี้ กระทรวงยังกำหนดให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชนต้นแบบ 4 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าชุมชนในส่วนของกฟผ. 2 แห่งได้แก่ โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวภาพ ที่ทับสะแกขนาด 1 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล ที่แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ขนาด 1 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออีก 2 แห่ง เป็นโรงไฟฟ้าชุมชนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่จ.นราธิวาส และยะลา ซึ่งทั้งหมดกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จและจ่ายไฟภายในสิ้นปี 2563 นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน