ธปท. คาดผลกระทบไวรัส ฉุดจีดีพีลดฮวบ เหลือ 1.3% ชงขยายฟรีวีซ่าให้จีน หลังเหตุการณ์สงบ

เมื่อวันที่ 13 ก.พ. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขและรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยว โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องจำนวนกว่า 500 คน เข้าร่วมระดมความคิดเห็น เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอและแนวทางการบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรมในการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน เสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

นายพิพัฒน์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ทันทีที่สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ยุติลง กระทรวงการท่องเที่ยวฯจะผลักดันมาตรการยกเว้นวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวจีนกับอินเดีย และต้องการแรงสนับสนุนเกี่ยวกับแนวคิดนี้จากผู้ประกอบการท่องเที่ยว โดยจะต้องให้นายกรัฐมนตรีเป็นคนทุบโต๊ะตัดสินใจ เพราะก่อนหน้านี้กระทรวงการต่างประเทศยังค้านอยู่ ขนาดญี่ปุ่นยังไม่กลัว มีการยกเว้นวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจีนแล้ว เราจะไปกลัวอะไร

กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะเสนอมาตรการนี้ทันทีที่เหตุการณ์แพร่ระบาดของโรคสงบลง หากสงบเร็ว อาจจะเสนอให้มีผลในเดือน เม.ย.นี้เลย เพื่อเอื้อต่อการทำตลาดของผู้ประกอบการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันจะชงขยายเวลามาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival : VoA) ด้วย เพื่อช่วยนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยได้สะดวก แต่ถ้าประเทศจีนยังไม่สามารถยุติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ อาจทำให้เศรษฐกิจโลกปีนี้เติบโตได้ไม่ดี ส่งผลกระทบต่อจีดีพีไทยโดยตรง

“จากเดิมคาดการณ์โต 2.8% พอเจอเรื่องนี้ ได้ถึง 2.5% ก็นับว่าเก่งแล้ว เพราะจีนถือเป็นประเทศที่ส่งออกนักท่องเที่ยวมากที่สุดในโลก เฉพาะประเทศไทยปีที่แล้วมีชาวจีนมาเยือน 11 ล้านคน คิดเป็น 27% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยทั้งหมด หรือสร้างรายได้กว่า 5 แสนล้านบาท ขณะที่มาตรการขยายเวลาเปิดปิดสถานบันเทิงจนถึงตี 4 ยังคงเดินหน้าผลักดันให้เกิด โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) อยู่ระหว่างการศึกษาว่าพื้นที่ท่องเที่ยวใดสามารถขยายเวลาเปิด-ปิดถึงตี 4 ได้บ้าง” นายพิพัฒน์ กล่าว

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ประมาณเดือน มี.ค.2563 ธปท.จะประเมินจีดีพี ใหม่อีกครั้ง หลังเคราะห์ซ้ำกรรมชัด จากต้นปีมีการประเมินเศรษฐกิจไทยเติบโตค่อนข้างดี แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 (โคโรนา)ที่ภาคท่องเที่ยวคาดว่า นักท่องเที่ยวจะหายไปประมาณ 5 ล้านคน สูญเสียรายได้ประมาณ 2.5 แสนล้านบาท สถานการณ์ภัยแล้ง และงบประมาณปี 2563 ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้ โดย จีดีพีของไทยจากเดิมคาดว่าจะเติบโตได้ประมาณ 2.8% เมื่อสารพัดปัจจัยลบ จีดีพีเติบโตได้เพียง 1.3% แต่หวังว่าจะไม่เลวร้ายถึงขั้นนี้

“โควิด-19 ถือเป็นวิบากกรรมกับเศรษฐกิจไทย จึงคาดว่า เศรษฐกิจจะมีการเติบโตทั้งปีประมาณ 1.3% จากประมาณการเดิมที่ 3.1% ซึ่งน่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประเมินว่าเศรษฐกิจจะเติบโตไม่ถึง 2% ความหวังของเศรษฐกิจไทยเหลือน้อยมาก เศรษฐกิจของไทยมีขนาด 16 ล้านล้านบาทเมื่อโควิด19 กระทบรายได้ท่องเที่ยว 2.5 แสนล้านบาท เท่ากับ 1.5% ของจีดีพีหายไป ดังนั้นจีดีพีของไทยคาดว่าจะเติบโตได้เพียง 1.3%”

นายดอน กล่าวอีกว่า การระบาดไวรัสโควิด-19 มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย รายได้จากการท่องเที่ยวทั้งระบบประมาณ 2.9-3 ล้านล้านบาทท ทั้งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง หรือคิดเป็นสัดส่วน 20% จีดีพี หากมองเรื่องของการจ้างงาน กนง.ห่วงมาก การจ้างงานภาคท่องเที่ยวไม่มาก แต่ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง อาทิ ค้าปลีก ขนส่ง รวมแล้ว 20% ของจีดีพี จ้างงานใหญ่สุดคือภาคเกษตร 40% เกินครึ่งของแรงงานในประเทศไทย ได้รับผลกระทบจากวิกฤตรอบนี้

ในปัจจัยบวกยังมีในเศรษฐกิจไทย หนี้สาธารณะของไทยต่ำ ภาครัฐมีโอกาสช่วยเหลือได้มากจากงบประมาณ แต่ขณะนี้งบประมาณยังไม่ผ่าน ก็ไม่มีประโยชน์ เงินสำรองระหว่างประเทศมีเยอะ ความเชื่อมั่นจึงยังมี การที่จะเกิดวิกฤตจนเงินทุนไหลออก และซ้ำรอยปี 2540 คงไม่เกิด ส่วนการประชุม กนง. ไม่อยากลดดอกเบี้ยเท่าไหร่ เพราะคาดว่า ดอกเบี้ยต่ำมาก ล่าสุด 1% ถือว่าต่ำสุดในรอบ 70 ปี ตั้งแต่มีธปท.มา การลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ ไม่ได้ช่วยได้มาก แต่ปัจจุบันใครทำอะไรได้ต้องช่วยกันทุกฝ่าย คีย์เวิร์ดคือต้องประสานนโยบาย ซึ่งนโยบายการคลังจะเป็นสิ่งสำคัญ หวังว่าจะเกิดขึ้นหลังงบประมาณออกมาใช้ได้

“ธปท.กังวลว่าจะเกิดวิกฤตสภาพคล่องผู้ประกอบการ เริ่มจากผู้ประกอบการท่องเที่ยว ที่อาจนักท่องเที่ยวหายไป ขาดเงิน และธุรกิจต่อเนื่อง โรงแรม รถขนส่ง รถบัส รถนำเที่ยว อีกมากมาย และกระทบถึงการจ้างงาน และกระทบต่อสภาพคล่องในควัวเรือนการลดดอกเบี้ยช่วยลดภาระของผู้กู้ยืม ไม่หวังปล่อยสินเชื่อให้เพิ่มขึ้น โดยแบงค์ชาติ ไม่ได้ทำแค่ลดดอกเบี้ย แต่ขอความร่วมมือให้สถาบันการเงินช่วยเหลือเรื่องการปรับโครงสร้างของลูกหนี้โดยไม่นับเป็นหนี้เสีย” นายดอน กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน