พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เปิดเผยว่า ได้สั่งการ 2 เรื่อง ได้แก่ เพิ่มการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมายังลุ่มน้ำเจ้าพระยา จากเดิมขอมติไว้ 850 ล้านลบ.ม. เพิ่มอีก 500 ล้านลบ.ม. เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำทะเลรุกตัวเข้ามายังแม่น้ำเจ้าพระยา จนทำให้น้ำประปาเค็ม และ การบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออกเพื่อไม่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ ต่อภาคอุตสาหกรรม โดยขอความร่วมมือให้นิคมอุตสาหกรรมปรับลดการใช้น้ำ 10%

สำหรับการดำเนินงานโครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63 จำนวน 2,041 โครงการวงเงิน 3,079 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบกลางเพื่อดำเนินการอย่างเร่งด่วนให้ทันพ.ค.-มิ.ย. ที่ฝนจะมา โดยโครงการเร่งด่วนที่ครม. อนุมัติงบกลางให้แล้วนั้นมีเจาะบ่อบาดาล จัดหาแหล่งน้ำผิวดิน ซ่อมแซมระบบประปา เป็นต้น ต้องเร่งดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานให้สำเร็จตามเป้าหมายภายใน 2 เดือนครึ่ง เพื่อให้สามารถใช้การได้ในฤดูฝนที่จะถึงเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฝนทิ้งช่วง

“โครงการต่างๆ ทั้งโครงการใหม่ โครงการที่ครม. อนุมัติงบประมาณแล้ว ต้องไม่ให้มีการซ้ำซ้อนกัน สูญเสียงบประมาณโดยทุกโครงการต้องทำรายงานความก้าวหน้า แผนการใช้จ่ายงบประมาณ รวมถึงประโยชน์ที่ประชาชนได้รับในทุกโครงการให้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติรับทราบเป็นระยะๆ เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม. ต่อไป”

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า เตรียมนำเสนอของบประมาณดำเนินโครงการลงทุนด้านน้ำขนาดเล็ก เพื่อเก็บกักน้ำ ป้องกันน้ำท่วม น้ำแล้ง ที่สามารถดำนินการได้ทันที่ เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 18 ก.พ.นี้ โดยการจัดทำแผนงาน โครงการเร่งด่วนเพื่อเก็บกักน้ำในฤดูฝนปี 2563 มีความก้าวหน้าการจัดทำแผนงาน โครงการเร่งด่วนตามที่ 10 หน่วยงานส่วนกลาง รวมถึงหน่วยงานส่วนท้องถิ่น 69 จังหวัด นำได้เสนอแผนงาน โครงการเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ในระหว่าง สทนช. ดำเนินการวิเคราะห์ กลั่นกรอง ตรวจสอบโครงการ ก่อนเสนอครม. เพื่อขออนุมัติในหลักการภายในเดือนก.พ.นี้

“ระหว่างวันที่ 14-17 ก.พ.นี้ จะนำรายละเอียดของโครงการและมูลค่าโครงการ หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของเงินลงทุน และประโยชน์ที่เกิดขึ้นว่าคุ้มกับการลงทุนหรือไม่โครงการขนาดเล็กเหล่านี้ เป็นโครงการที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการให้ดำเนินการเร่งด่วน โดยให้ใช้เงินกู้ ซึ่งโครงการขนาดเล็กถึงขนาดกลางมูลค่าโครงการตั้งแต่ 100-200 ล้านบาท จะต้องนำหารือ สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ และสำนักงบประมาณ อย่างเร่งด่วน เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการได้ในปี 2563 ก่อนเสนอครม. เพื่อขอความเห้นชอบต่อไป”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ที่มีพล.อ.ประวิตร เป็นประธาน สทนช. ได้รายงาน โครงการที่เสนอขึ้นมาจากทั่วประเทศเบื้องต้นมีจำนวน 3,284 โครงการวงเงิน 27,850.79 ล้านบาท ทั้งหมดจะต้องให้แล้วเสร็จในปี 2563 เบื้องต้นสามารถเก็บน้ำได้ประมาณ 796.28 ล้านลบ.ม. แบ่งเป็นโครงการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 1,135 แห่ง เก็บกักน้ำได้ 357.29 ล้านลบ.ม. วงเงิน 9,323.54 ล้านบาท ภาคตะวันออก จำนวน 196 แห่ง เก็บน้ำได้ 40.96 ล้านลบ.ม. วงเงิน 2,001.61 ล้านบาท ภาคเหนือ จำนวน 917 แห่ง เก็บกักน้ำได้ 248.30 ล้านลบ.ม. วงเงิน 7,940.42 ล้านนบาท ภาคกลางจำนวน 669 แห่ง เก็บกักน้ำได้ 113.65 ล้านลบ.ม. วงเงิน 5,443.97 ล้านบาท และ ภาคใต้ จำนวน 367 แห่ง เก็บกักน้ำได้ 36.08 ล้านลบ.ม. วงเงิน 3,141.25 ล้านบาท

ส่วนโครงการที่ท้องถิ่นเสนอขึ้นมา มีจำนวน 8,531 แห่ง วงเงิน 5,351.34 ล้านบาท สามารถเก็บกักน้ำได้จำนวน 102.04 ล้านลบ.ม. แบ่งเป็นโครงการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 5,431 แห่ง เก็บกักน้ำได้ 71.57 ล้านลบ.ม. วงเงิน 3,444. 55 ล้านบาท ภาคตะวันออก จำนวน 536 แห่ง เก็บน้ำได้ 5.98 ล้านลบ.ม. วงเงิน 345.82 ล้านบาท ภาคเหนือ จำนวน 1,483 แห่ง เก็บกักน้ำได้ 13.45 ล้านลบ.ม. วงเงิน 789.99 ล้านบาท ภาคกลางจำนวน 602 แห่ง เก็บกักน้ำได้ 5.68 ล้านลบ.ม. วงเงิน 375.35 ล้านบาท และ ภาคใต้ จำนวน 479 แห่ง เก็บกักน้ำได้ 5.34 ล้านลบ.ม. วงเงิน 395.61 ล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน