สภาพัฒน์หั่นจีดีพีปีนี้ต่ำสุดเหลือ 1.5% หลังท่องเที่ยวทรุดรับพิษโคโรนา-ภัยแล้งรุนแรง-งบ’63 ล่าช้าหายกว่า 3.2 หมื่นล้าน เชื่อเริ่มคลี่คลายไตรมาส 2

สภาพัฒน์หั่นจีดีพีปีนี้ – นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สภาพัฒน์ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ลงเหลือ 1.5-2.5% มีค่าเฉลี่ยที่ 2% จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 2.7-3.7% เนื่องจากสาเหตุสำคัญ 3 ประการ คือ 1. การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ซึ่งคาดว่าจะมีผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้ให้ลดลง 4.8 ล้านคน จากเป้าหมาย 41.8 ล้านคน เหลือราว 37 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 2.3 แสนล้านบาท

2. ปัญหาภัยแล้ง เริ่มมีความรุนแรงและส่งผลกระทบในภาพรวมมากขึ้น โดยอาจจะทำให้จีดีพีภาคเกษตรในปีนี้ลดลง 5% 3. ความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ซึ่งคาดว่างบประมาณจะสามารถเบิกจ่ายได้ในช่วงต้นเดือนเม.ย. 2563 ล่าช้าที่เพิ่มขึ้นมาอีก 2 เดือนนี้ ทำให้เม็ดเงินลงทุนในปี 2563 ลดลงจากประมาณการเดิมราว 32,000 ล้านบาท

“เชื่อว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยจะค่อยเริ่มกลับมาดีขึ้นในไตรมาส 2 หลังจากที่การระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มเข้าสู่สถานการณ์ปกติ นักท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้าสู่ระบบ และการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการลงทุนต่างๆ สามารถขับเคลื่อนได้จากเม็ดเงินงบประมาณที่เริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ หลังจากที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 มีผลบังคับใช้ได้”

สำหรับปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปีนี้มาจาก 1. การปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจและการค้าโลก 2. การขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน การลงทุนภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐ 3. แรงขับเคลื่อนจากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ และ 4. ฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ที่ จีดีพีไตรมาส 4/2562 ขยายตัวได้เพียง 1.6% ซึ่งต่ำสุดในรอบ 21 ไตรมาส และคาดว่าในปี 2563 นี้ การส่งออกไทยจะขยายตัวได้ 1.4% คิดเป็นมูลค่า 2.46 แสนล้าน

ทั้งนี้ การบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงปี 2563 ควรให้ความสำคัญกับ 1. การประสานนโยบายการเงินการคลัง เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรก และสนับสนุนการขยายตัวในครึ่งปีหลัง 2. การฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวให้สามารถกลับมาขยายตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีไม่ต่ำกว่า 37 ล้านคน คิดเป็นรายได้ 1.73 ล้านล้านบาท 3. ขับเคลื่อนการส่งออกให้สามารถกลับมาขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 2%

4. การรักษาแรงขับเคลื่อนของการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยเร่งเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายในปี 2563 ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 91.2% เบิกจ่ายงบเหลื่อมปี ไม่ต่ำกว่า 70% และเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ไม่ต่ำกว่า 75% 5. การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนในภาคเอกชน และ 6. การดูแลผู้มีรายได้น้อย ผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง การลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยว และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ

นายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2562 ที่ขยายตัวได้เพียง 1.6% และถือว่าต่ำสุดในรอบ 21 ไตรมาสนั้น หรือในรอบ 5 ปี ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2563 โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 น่าจะเป็นช่วงที่ต่ำสุดของปี 2563 โดย จีดีพีมีโอกาสจะติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2562 แต่คงติดลบไม่มาก เนื่องจากไตรมาส 4/62 มีการขยายตัวที่ไม่สูงมากอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี มองว่า เศรษฐกิจไทยคงไม่อยู่ในสภาวะถดถอยทางเทคนิค

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน