นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (TIEB) ฉบับใหม่ ว่า ผลการศึกษาจัดทำร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2561-2580 หรือพีดีพี 2018 ฉบับปรับปรุง ยอมรับว่าการผลิตไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับประชาชนเพิ่มขึ้น 0.0769 บาท/หน่วย จากช่วงการศึกษาค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่ 3.5903 บาท/หน่วย มาอยู่ที่ 3.6672 บาท/หน่วยในช่วงปลายแผน แต่ยืนยันว่ารัฐจะบริหารจัดการได้ เพราะมีแผนนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เพื่อผลิตไฟฟ้าซึ่งปัจจุบันราคาแอลเอ็นจีปรับลดลงอยู่ในระดับที่สามารถดูแลต้นทุนค่าไฟฟ้าไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชนได้

โดยการปรับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (เออีดีพี) ให้สอดคล้องกับแผนพีดีพี 2018 ตั้งเป้าหมายเพิ่มโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากในปี 2563-2567 จะมีพลังงานชีวมวล, ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย), ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) และโซลาร์ ไฮบริด กำลังผลิตรวม 1,933 เมกกะวัตต์ พร้อมทั้งปรับลดสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพตามทิศทางการใช้พลังงานในอนาคต เช่น การใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นส่งผลให้การใช้น้ำมันลดลง และการสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแล้วเสร็จ ยังรักษาระดับเป้าหมายสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายไม่น้อยกว่า 30% ในปี 2580

“ล่าสุดได้มีการปรับเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ใหม่) ในบางประเภทเชื้อเพลิง โดยยังคงเป้าหมายรวมไว้เท่าเดิมที่ 18,696 เมกกะวัตต์ ปรับลดเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) ประชาชนลงหลังไม่เป็นไปตามแผน และปรับเพิ่มเป้าหมายโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 69 เมกกะวัตต์ ปรับเพิ่มเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) ชะลอโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐภาคใต้ ปีละ 60 เมกกะวัตต์ จากปี 2564-2565 ไปเป็นปี 2565-2566 พร้อมเร่งรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลม จากเดิมปี 2577 มาเป็นปี 2565 และสมมติฐานการรับซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (ที่ไม่ใช่โรงไฟฟ้าชุมชน) ภายหลังปี 2567 จะใช้ตามสมมติฐานเดิมในแผนพีดีพี 2018”

ทั้งนี้ ระยะแรกโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 700 เมกกะวัตต์ ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารโรงไฟฟ้าชุมชนได้กำหนดหลักเกณฑ์คัดเลือกเพื่อประกาศในช่วงต้นเดือนมี.ค. และจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าในเดือนเม.ย. ของโครงการเร่งด่วน ควิกวิน จำนวน 100 เมกกะวัตต์ ซึ่งจะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2563 ส่วนอีก 600 เมกกะวัตต์จะประกาศรอบต่อไป กำหนดแผนจ่ายไฟฟ้าภายในปี 2564

สำหรับแผนอนุรักษ์พลังงานของประเทศ (อีอีพี) 2018 ตั้งเป้าการลด (Energy Intensity: EI) ลง 30 ภายในปี 2580 เมื่อเทียบกับปี 2553 มีเป้าหมายลดความต้องการใช้ไฟฟ้า 4,000 เมกะวัตต์ หรือลดพลังงาน 49,064 ktoe และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ คาดความต้องการใช้ก๊าซภาพรวมในปี 2580 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.7% ต่อปี หรืออยู่ที่ 5,348 MMSCFD และมีแนวโน้มการใช้ก๊าซในภาคการผลิตไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการใช้ในโรงแยกก๊าซและภาคขนส่งลดลง

ขณะที่ การจัดหาก๊าซธรรมชาติ (ก๊าซแพลน) สำหรับโรงไฟฟ้าขนอม โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี และโรงไฟฟ้าใหม่ตามแผนพีดีพี 2018 มีความจำเป็นต้องจัดหาแอลเอ็นจีเพิ่มเติมให้เพียงพอกับความต้องการใช้ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป ตั้งเป้าหมายปี 2570 จัดหาคลังแอลเอ็นจี (แอลเอ็นจี เทอร์มอนอล) ในภาคใต้ 5 ล้านตัน/ปี และการจัดหาก๊าซธรรมชาติผ่านโครงข่ายท่อบนบกจะเพียงพอกับความต้องการใช้ถึงปี 2563

ในส่วนของแผนโรงไฟ ฟ้าถ่านหินกำลังการผลิต 1,000 เมกกะวัตต์ยังคงมีอยู่ในภาคใต้ตามแผนที่วางไว้ แต่ยืนยันว่าจะต้องใช้เทคโนโลยีที่ช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน รวมถึงยังมีแผนสร้างโรงไฟฟ้าจากก๊าซจังหวัดสุราษฎร์ธานี รองรับความมั่นคงด้านพลังงานด้วย อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะมีการนำแผน TIEB ฉบับใหม่ เสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณา ก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อให้ความเห็นชอบภายในเดือนมี.ค.นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน