นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการหารือเรื่องการยุติข้อพิพาทระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีอีเอ็ม) นานมากกว่า 2 ชั่วโมง เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดมาก โดยข้อพิพาทระหว่าง กทพ. และ บีอีเอ็ม ทั้งหมดที่เกิดขึ้นรวม 17 คดี โดยครม. เห็นชอบให้ ขยายระยะสัมปทานทางด่วนนออกไป 15 ปี 8 เดือน โดยจะไปสิ้นสุดสัญญาพร้อมกันในวันที่ 31 ต.ค. 2578

ทั้งนี้ หากการยุติข้อพิพาทไม่ถูกนำมาพิจารณาในครม. สัญญาสัมปทานเดิมก็จะสิ้นสุดลงในวันที่ 28 ก.พ. 2563 ซึ่งจะส่งผลให้ กทพ. จะต้องเปิดประมูลเพื่อหาเอกชนเข้ามาบริหารใหม่ เรื่องก็จะยาวนานไม่จบสิ้น ส่วนคดีทั้ง 17 คดีที่เป็นมีปัญห้เกิดจาก กทพ. ไม่ปฏิบัติตามสัญญาตั้งแต่ปี 2533 ซึ่งใน 17 คดี ขณะนี้มีการฟ้องร้องกันสิ้นสุดศาลตัดสินให้บีอีเอ็ม ชนะ 5 คดี เป็นเงินหลายหมื่นล้าน แต่ในจำนวนนั้นกทพ. ชนะคดี 1 คดี วงเงิน 491 ล้านบาท ยังเหลืออีกประมาณ 11 คดีที่ต้องดำเนินการฟ้องร้อง

สำหรับ 17 คดีนี้ถ้าไม่ทำอะไร คดีมันก็จะยืดยาวกันไป และเมื่อไหร่ที่รัฐไปสร้างทางแข่งขันก็จะเกิดปัญหาทะเลาะกันอีก กทพ. ก็กลุ้มใจมากนานแล้ว รวมทั้งก็ไปจ้าง ม.ธรรมศาสตร์ฯ ศึกษา ถ้ารอให้คดีตัดสินทั้งหมด วันนี้เมื่อสัญญาเก่าก็ยังไม่สิ้นสุดลง รัฐบาลยังมีโอกาสที่จะเจรจาได้จะได้เริ่มต้นใหม่ ไม่ต้องมีปัญหาข้อกฏหมายกันยาวนานอีกต่อไป

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ครม. อนุมัติให้ต่อสัญญาทางด่วนให้กับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม เป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน เพื่อแก้ไขข้อพิพาทระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มูลค่าที่ 78,908 ล้านบาท ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยมูลค่าความเสียหายตามข้อมพิพาทวงเงิน 78,908 ล้านบาท เกิดจากการแพ้คดีที่ กทพ. ผิดเงื่อนไขในสัญญา ในปี 2542-43 และสัญญาในปี 2544-61 ในกรณีสัญญาระบุว่า หากภาครัฐสร้างทางด่วนอันเป็นเหตุให้ บีอีเอ็ม ต้องสูญเสียรายได้ กทพ. ต้องชดใช้รายได้ที่ต้องสูญเสียไป

อย่างไรก็ตาม การทำสัญญาฉบับใหม่ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ เพื่อลงนามสัญญาก่อนวันที่ 28 ก.พ.นี้ เพื่อทำให้สัญญาต่อเนื่องกันทันที ส่วนเงื่อนไขของส่วนแบ่งรายได้ ยืนยันว่ายังคงในสัดส่วนเดิม คือ กทพ. ได้รับส่วนแบ่ง 60% และบีอีเอ็มได้ส่วนแบ่ง 40% โดยจากนี้ต่อไปทางด่วนจะไม่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้น จนกว่าปี 2571 จะปรับขึ้นอีก 10 บาท นอกจากนี้ ภายใต้สัญญาใหม่บีอีเอ็ม ยังมีสิทธิในการเจรจาต่อสัญญาได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปี แต่รัฐก็มีสิทธิในการพิจารณาไม่ต่อสัญญาก็ได้

“การยุติข้อพิพาทระหว่าง กทพ. และบีอีเอ็ม ส่งผลให้รัฐบาลไม่ต้องสูญเสียเงินงบประมาณที่ต้องเป็นค่าปรับกรณีที่แพ้คดีอันเกิดจาก กทพ. ทำผิดสัญญา เบื้องต้นเป็นเงินมากกว่า 137,517 ล้านบาท แต่ทาง บีอีเอ็ม นำเพียง 2 สัญญา มาต่อรองเพื่อยุติข้อพิพาทหาทางออกร่วมกัน ส่งผลให้รัฐบาลไม่ต้องเสียงบประมาณ โดยยืดอายุสัญญาทางด่วนให้ 15 ปี 8 เดือน หรือหากตัดวันหยุดราชการ อาทิ ปีใหม่ สงกรานต์ เป็นต้น ที่ครม. มีมติไม่ให้จ่ายค่าผ่านทาง เหลือระยะสัญญาที่ยืดให้บีอีเอ็ม เพียง 14 ปี 10 เดือน หรือคิดเป็นรายได้ของรัฐบาลประมาณ 47,000 ล้านบาท”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน