นายสุรงค์ บลูกุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงผลการประชุมบอร์ด กทพ. ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบแนวทางยุติข้อพิพาททางด่วนระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีอีเอ็ม) โดยแลกกับการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วน 15 ปี 8 เดือน โดย กทพ. และ บีอีเอ็ม อยู่ระหว่างพิจารณาตรวจร่างสัญญา และทยอยถอนฟ้องคดีระหว่างกัน คาดว่าจะลงนามในสัญญาภายในสัปดาห์นี้แน่นอน ทั้งนี้ หากยังถอนฟ้องไม่แล้วเสร็จก่อนลงนาม กทพ. อาจจะจำเป็นต้องยึดรายได้จาการเก็บค่าผ่านทางไว้ก่อน เพื่อเป็นหลักประกัน และจะคืนให้บีอีเอ็มภายหลังถอนฟ้องครบทุกคดีแล้ว

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ยับยั้งการลาออกจากตำแหน่งของนายวิชาญ เอกรินทรากุล รองผู้ว่าการกทพ. ฝ่ายกลยุทธ์และแผนงาน ที่ก่อนหน้านี้ถูกแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรักษาการผู้ว่า กทพ. เนื่องจากเห็นว่าเป็นผู้มีความรู้สามารถทำประโยชน์ให้องค์กรได้ โดยมีมติแต่งตั้งให้นายวิชาญไป ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษากทพ. แทน ซึ่งนายวิชาญก็สมัครใจที่จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ขณะเดียวกันบอร์ดกทพ. ยังมีมติแต่งตั้งนายดำเกิง ปานขำ รองผู้ว่าการกทพ.ฝ่ายปฏิบัติการ ให้รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กทพ. คนใหม่แทนนายวิชาญ ซึ่งโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ.เป็นต้นไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายดำเกิงจะลาออกจากตำแหน่งก่อนการลงนามในสัญญาขยายสัมปทานหรือไม่ นายสุรงค์กล่าวว่า คิดว่าคงไม่ลาออก เพราะนายดำเกิงรับทราบแล้วว่าต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อ ซึ่งถือว่าเป็นการการเสียสละเพื่อองค์กร

นายสุรงค์กล่าวต่อถึงกรณีที่ มีข้อสงสัยว่าบีอีเอ็มมีสิทธิ์ต่อสัญญาได้อีก 20 ปี หลังจากการขยายสัญญาสัมปทานฉบับใหม่สิ้นสุดลง หรือหลังจากวันที่ 31 ต.ค. 2578 นั้น เรื่องนี้เป็นการเข้าใจผิด เพราะในสัญญาระบุชัดเจนว่า บีอีเอ็มสามารถเจรจาต่อสัญญาตามสิทธิของสัญญาเดิมได้ 20 ปี ดังนั้นเมื่อครม. มีมติให้ขยายสัญญาไปแล้ว 15 ปี 8 เดือน ก็เท่ากับว่า บีอีเอ็มมีสิทธิเจรจาขอต่อสัญญาได้อีกแต่ 4 ปี 4 เดือนเท่านั้นไม่ใช่ 20 ปีตามที่หลายฝ่ายแสดงความกังวล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กทพ. จะจัดให้มีการลงนามในสัญญาร่วมกับ บีอีเอ็ม ในวันที่ 21 ก.พ. นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน