นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เรื่องการควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งหน้ากากอนามัยเพิ่มเติม โดยห้ามส่งออกหน้ากากอนามัยทุกชิ้น เพื่อป้องกันในประเทศขาดแคลน จากเดิมกำหนดให้การส่งออกตั้งแต่ 500 ชิ้นขึ้นไปต้องขออนุญาตส่งออกกับกรมการค้าภายในก่อน เพราะที่ผ่านมา มีบางรายใช้วิธีการส่งออกไม่เกิน 500 ชิ้น แต่ส่งออกวันละเป็นสิบๆ เที่ยว จึงต้องห้ามทั้งหมด แต่ผ่อนผันให้ใน 2 กรณี คือ นำออกไปใช้ส่วนตัวได้ไม่เกิน 30 ชิ้น หรือหากกรณีเป็นผู้ป่วย ต้องมีใบรับรองแพทย์ นำออกได้ไม่เกิน 50 ชิ้น

ส่วนการส่งออกทั่วไป ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 1 ชุด มีกรรมการจากกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันพิจารณา เพื่ออนุญาตการส่งออกไปกรณีๆ ไป เช่น การส่งออกไปให้สถานทูต การช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน หน้ากากอนามัยชนิดพิเศษที่ไม่ใช้ในไทย หรือไม่ได้ส่งออกเพื่อการค้าหรือหากำไร

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มีการขออนุญาตส่งออกเข้ามารวม 32 ล้านชิ้น ซึ่งกรมได้ระงับการส่งออกเกือบ 100% เพราะหากให้ส่งออก ในประเทศก็ไม่มีใช้ โดยรายที่อนุญาตให้ส่งออก คือ หน้ากากอนามัยที่ไม่ใช้ในไทย เป็นหน้ากากพลาสติก และมีลิขสิทธิ์ในการผลิต จำนวน 2.1 ล้านชิ้น และมีเงื่อนไขให้ผู้ผลิตรายนี้ ต้องผลิตหน้ากากแบบที่ใช้ป้องกันโรคเพื่อจัดส่งให้ศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัย โดยจะผลิตในเดือนก.พ. 2563 จำนวน 2.9 ล้านชิ้น เดือนมี.ค. 2563 จำนวน 5.4 ล้านชิ้น และในจำนวนที่ขออนุญาตส่งออกมีประมาณ 7-8 ราย ได้มาขอถอนการขออนุญาตส่งออกประมาณ 11 ล้านชิ้น ซึ่งพอสอบถามเพื่อขอแบ่งปันเพื่อนำกระจายในประเทศ ได้คำตอบว่าเป็นการขอตัวเลขไว้ก่อน ไม่ได้มีสินค้าในมืออยู่จริง

นายวิชัยกล่าวว่า สำหรับการกระจายหน้ากากอนามัยให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน นอกเหนือจากการจำหน่ายที่กระทรวงพาณิชย์ กระจายผ่านร้านธงฟ้าประมาณ 900 แห่งทั่วประเทศ ยังได้กระจายให้องค์การเภสัชกรรม สมาคมร้านขายยา การบินไทย ซึ่งเป็นผู้ที่จำเป็นต้องใช้ และล่าสุดได้เพิ่มร้านสะดวกซื้อ 7-11 และบิ๊กซี กำลังจะเพิ่มไปเทสโก้ โลตัส วิลล่า มาร์เก็ต รวมๆ แล้วน่าจะมี 2 หมื่นสาขาทั่วประเทศ แต่จะจำกัดการซื้อไม่เกินคนละ 4 ชิ้นๆ ละ 2.50 บาท หรือจ่ายแค่ 10 บาท

“มั่นใจว่าหน้ากากอนามัยจะสามารถกระจายได้อย่างทั่วถึง และประชาชนจะหาซื้อได้ง่ายขึ้น เพราะตอนนี้สินค้าเริ่มมีมากขึ้นแล้ว โดยมีกำลังการผลิตวันละ 1.3 ล้านชิ้น และยังได้ห้ามการส่งออก ประกอบกับการเช็กสต๊อกล่าสุด มีรายงานเข้ามา ณ วันที่ 20 ก.พ. 2563 ว่ามีสต๊อกจำนวน 28 ล้านชิ้น อยู่ในมือผู้ผลิต 20 ล้านชิ้น และที่เหลืออยู่ในมือผู้ค้า เพิ่มขึ้นจากวันที่ 6 ก.พ. 2563 ที่มีการแจ้งสต๊อกในมือแค่ 2.17 แสนชิ้น เป็นตัวเลขที่ผมจำได้ขึ้นใจ เพราะตอนนั้น มีการคุยกันว่าสต๊อกมีสูงถึง 200 ล้านชิ้น แสดงว่าก่อนที่จะห้ามส่งออก มีคนแอบส่งออกไปเยอะ อย่างปี 2562 ทั้งปี ส่งออกเพิ่มขึ้น 200% เฉพาะม.ค. 2563 เดือนเดียว เพิ่มขึ้น 300%”นายวิชัยกล่าว

นายวิชัยกล่าวว่า กรมยังเดินหน้าตรวจสอบการจำหน่ายหน้ากากอนามัยแพงเกินจริงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดจับกุมผู้กระทำความผิดได้แล้ว 30 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ค้าออนไลน์ 3 ราย ตัวอย่างโทษ เช่น ซื้อมา 29 บาท ขาย 129 บาท หรือซื้อมา 5 บาท ขาย 15-20 บาท ซึ่งได้จับกุมตัวส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดี และส่งอัยการฟ้องศาลแล้ว มีโทษสูงสุดจำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ กรมอยากจะฝากถึงผู้ครอบครองหน้ากากอนามัย อย่าค้ากำไรเกินควรและฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน ควรเอากำไรที่เหมาะสม เพราะถ้ากรมได้รับการร้องเรียน จะเข้าไปดำเนินการตามกฎหมายทุกกรณี

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดได้รับทราบจากกระทรวงมหาดไทย ที่จะประสานเครือข่าย เช่น ผู้ผลิตสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอท็อป) เครือข่ายแม่บ้าน ทำการผลิตหน้ากากอนามัยผ้า เป้าหมาย 50 ล้านชิ้นต่อเดือน หากรวมกับที่ผู้ผลิตๆ ได้ประมาณ 35 ล้านชิ้นต่อเดือน ก็จะทำให้มีหน้ากากอนามัยกว่า 80 ล้านชิ้นต่อเดือน ซึ่งมีเพียงพอใช้อย่างแน่นอน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน