นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อการต่อเชื่อมการเดินทางทางน้ำและเปิดประตูสู่พื้นที่ท่องเที่ยวรอบพื้นที่กรุงเทพมหานคร และลดปัญหาการจราจรทางถนน ว่า จท. อยู่ระหว่างปรับปรุงและก่อสร้างท่าเรือ จำนวน 5 ท่า งบลงทุนรวมทั้งสิ้น 190 ล้านบาท คือ 1. ท่าเรือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ซึ่งวัดจะก่อสร้างเองวงเงินลงทุน 37 ล้านบาท โดยจท. จะเข้ามาดูแลเรื่องการออกแบบและการกำหนดมาตรฐานท่าเรือและโป๊ะให้ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้าางได้ในเดือนมี.ค. ใช้เวลาก่อสร้าง 4 เดือนและสามารถเปิดอย่างเป็นทางการได้ วันที่ 28 ก.ค. 2563 ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

2. ท่าเรือสาทร วงเงินลงทุน 11.3 ล้านบาท งานคืบหน้าแล้ว 15% คาดว่าจะแล้วเสร็จ 31 ก.ค. 2563 3. ท่าเรือราชินี วงเงินลงทุน 31.4 ล้านบาท งานคืบหน้าแล้ว 10% มี คาดว่าจะแล้วเสร็จ 12 ส.ค. 2563 4. ท่าเรือท่าเตียน วงเงินลงทุน 39 ล้านบาท คืบหน้าแล้ว 5% คาดว่าจะแล้วเสร็จ 31 ส.ค. 2563 และ 5. ท่าเรือท่าช้าง วงเงินลงทุน 71 ล้านบาท คืบหน้าแล้ว 12% คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการ 5 ธ.ค. 2563

สำหรับท่าเรือแต่ละท่าที่อยู่ระหว่างการพัฒนานั้น เมื่อแล้วเสร็จจะกลายเป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงาม สร้างความโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ตลอดริมสองฝั่งแม่น้ำ ตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบันคือท่าเรือกรมเจ้าที่พัฒนาแล้วเสร็จเปิดให้บริการแล้ว กลายเป็นท่าเรือที่สวยที่สุดในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยกรมเจ้าท่าจะเข้าไปกำกับดูแลการใช้บริการให้เกิดความสะดวก และปลอดภัย พร้อมมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนตลอดปี 2563

รายงานข่าวจากกรมเจ้าท่าแจ้งว่า จท. ยังมีแผนพัฒนาในระยะที่ 2 ในช่วงปี 2564-65 เพื่อปรับปรุงท่าเรือเพิ่มเติมอีก 15 ท่า เช่น การพัฒนาให้มีอาคารพักคอย เบื้องต้นประเมินว่าอาจจะต้องใช้งบประมาณปรับปรุงท่าเรือ พร้อมจัดทำเป็นระบบปิดราว 800 ล้านบาท และติดตั้งซอฟต์แวร์และระบบการควบคุมภายในท่าเรืออีก 50 ล้านบาท ส่วนระยะที่ 3 ช่วงปี 2565-66 จะพัฒนาท่าเรืออีก 11 ท่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน