น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในเดือน ก.พ. 2563 โดยการส่งออกมีมูลค่า 20,641.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -4.47% หากหักน้ำมัน ทองคำ และอาวุธยุทโธปกรณ์ การส่งออกจะขยายตัว 1.5% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 16,744 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -4.30% ขณะที่ดุลการค้าเกินดุล 3,897 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับภาพรวมช่วง 2 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-ก.พ.) การส่งออก มีมูลค่า 40,267 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -0.81% ส่วนนำเข้า มีมูลค่า 37,925 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -6.32% ดุลการค้าเกินดุล 2,341 ล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมถือว่าไทย ทำได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ แม้จะมีปัจจัยจากโควิด-19 ที่กระทบจากระบบขนส่ง โดยเฉพาะส่งออกไปจีน ในสินค้าเกษตรและอาหารบางตัว เพราะคนไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากบ้านไปซื้อของ รวมถึงตลาดญี่ปุ่น หดตัว 11.1% แต่ไทยสามารถกระจายตลาดได้ดี ขยายตัวทั้งในยุโรป และตลาดตะวันออกกลาง โดยไทย ยังมีจุดแข็งในความหลากหลายของสินค้า และมีการส่งออกสินค้าจำเป็นเพื่อการดำรงชีพ เช่น ไก่สดแช่แข็ง อาหารทะเล ผักผลไม้ เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องนุ่งห่ม ขยายตัวได้ดี และเชื่อว่า ตลอดทั้งปีนี้ สินค้าเหล่านี้ จะมีความต้องการสูงขึ้นแน่นอน และจะกลับมาขยายตัวดีขึ้นแบบชัดเจนในไตรมาสที่ 2 จากสถานการณ์โควิดที่เริ่มดีขึ้นในภูมิภาคเอเชีย แต่ยังต้องติดตามการระบาดที่กระจายไปภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะในยุโรป แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีปัญหาโลจิสติกส์แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีการตั้งเป้าหมายการส่งออกของปีนี้ แต่ในช่วงที่เหลือ หากสามารถผลักดันมูลค่าการส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 20,598 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวมการส่งออกตลอดทั้งปี จะเป็นบวกได้ และหากเฉลี่ยเกินเดือนละ 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีโอกาสที่การส่งออกจะขยายตัว 2% เนื่องจากสินค้าไทยจำนวนมากเป็นที่ต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหารเนื่องจากไทยถือว่าเป็นครัวของโลก เพราะสินค้าไทยมีคุณภาพที่ดี ดังนั้น เชื่อว่า เมื่อปัญหาโรคโควิด-19 สามารถควบคุมได้ภาวะตลาดโลกจะกลับมาดีขึ้น ที่คาดว่าโอกาสในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ภาคการส่งออกของไทยจะส่งออกได้เพิ่มมากขึ้นได้แน่นอน

“ขณะนี้ยังไม่มีการประเมินว่าผลกระทบจากการระบาดของโควิดจะกระทบการส่งออกอย่างไรบ้าง แต่ก็มีแนวโน้มว่าหลายประเทศในเอเชียมีแนวโน้มสถานการณ์ระบาดที่ลดลง แต่กลับไปรุนแรงมากขึ้นในยุโรปและตะวันตก แต่เท่าที่ติดตามดูก็ยังไม่มีปัญหาเรื่องระบบโลจิสติกส์ และหวังว่าหลังจากสถานการณ์ดีขึ้นจะเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้า เพราะผู้คนทั่วโลกมีความระมัดระวังในการจับจ่ายในช่วงที่ผ่านมา ”น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

สำหรับแนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2563 แรงกดดันจากสถานการณ์ไวรัส Covid-19 ชะลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกในระยะสั้น-กลาง และราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ยังเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกของไทย โดยมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ในหลายประเทศ เช่น มาตรการปิดเมือง/พรมแดน อาจส่งผลกระทบด้านห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมส่งออกไทยอันเนื่องมาจากการขาดแคลนวัตถุดิบ ทั้งนี้ สถานการณ์การในจีนที่เริ่มคลี่คลายอาจบรรเทาผลกระทบลงได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยยังมีปัจจัยบวกจาก 1. จุดแข็งและศักยภาพไทยในอุตสาหกรรมเกษตรอาหารและสินค้าจำเป็น อาทิ เครื่องนุ่งห่ม และของใช้ในบ้าน เพื่อการตอบสนองแนวโน้มความต้องการความมั่นคงทางอาหารและสินค้าเพื่อการยังชีพ ที่ทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นในหลายประเทศและไทยยังมีกำลังการผลิตเพิ่มเติมเพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศและการส่งออก 2. แนวโน้มการฟื้นตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ซึ่งมีสัดส่วนต่อการส่งออกรวมถึงร้อยละ 14%

3. ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงกว่าช่วงก่อน 4. หลายประเทศทั่วโลกต่างใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินและการคลังอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจช่วยลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมและรักษาระดับการค้าโลกให้ทรงตัวต่อไปได้ อาทิ การบรรเทาปัญหาสภาพคล่องของภาคธุรกิจ การลดอัตราดอกเบี้ย การสนับสนุนรายได้และค่าใช้จ่ายเพื่อพยุงกำลังซื้อของภาคเอกชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน