นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า กสอ. เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส นำองค์ความรู้มาผสานกับเทคโนโลยีให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชน (เอสเอ็มอี) ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตสินค้าเป็นที่ต้องการของตลาดและสามารถเลือกใช้วัตถุดิบอื่นในการผลิตทดแทนกับวัตถุดิบหลักที่ขาดแคลน ให้สามารถผลิตสินค้าได้เพียงพอกับความต้องการ 5 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1. หน้ากากอนามัย 2. เจลล้างมือ 3. ทิชชูเปียกแอลกอฮอล์ 4. ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น-เสปรย์ยับยั้งเชื้อไวรัส และ 5. สมุนไพรไทย

โดยผู้ประกอบการในกลุ่มสิ่งทอสามารถปรับกระบวนการผลิต การตัดเย็บเสื้อผ้าแฟชั่น เสื้อผ้ากีฬา มาสู่การตัดเย็บหน้ากากผ้า ด้วยผ้านิตเจอร์ซี่ หรือผ้าสะท้อนน้ำ มีคุณสมบัติป้องกันสารคัดหลัง ไอ จาม หรือเสมหะ ช่วยเพิ่มกำลังการผลิตภายในประเทศที่ปัจจุบันมีประมาณ 40.5 ล้านชิ้นต่อเดือน รองรับความต้องการหน้ากากอนามัยที่ขาดแคลน

การปรับสายการผลิตน้ำหอมสู่เจลล้างมือช่วยเพิ่มกำลังการผลิตปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 400,000 หลอดต่อเดือน ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด โดยผู้ประกอบการสามารถนำ “ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์” หรือ “แอลกอฮอล์ล้างแผล” เป็นวัตถุดิบทดแทนการผลิตเจลล้างมือได้ เพราะมีประสิทธิภาพฆ่าเชื้อไวรัสได้ดีและยังมีราคาถูก

การสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตทิชชูเปียกผสมแอลกอฮอล์ ต่อยอดจากผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติยับยั้งแบคทีเรีย 99.9% มาสู่ผลิตภัณฑ์ที่ยับยั้งเชื้อไวรัส ซึ่งปัจจุบันทิชชูเปียกผสมแอลกอฮอล์เริ่มเป็นที่ต้องการของตลาดสูงขึ้น เนื่องจากมีความสะดวกต่อการใช้งาน ต่อยอดผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น-สเปรย์ยับยั้งเชื้อไวรัส-19

การเสริมสร้างภูมิปัญญาสมุนไพรไทยสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายในเชิงพาณิชย์ เช่น ฟ้าทะลายโจร ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อผลักดันสมุนไพรไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563 จะขยายตัวลดลงอยู่ในช่วง 1.5-2.5% ต่อปี จากเดิมคาดขยายตัว 2.7-3.7% ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน