นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) หรืออีไอซี ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า อีไอซีได้ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยปี 2563 ที่ -5.6% จากคาดการณ์เดิมที่ -0.3% สาเหตุหลักมาจาก เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยจากการหยุดลงแบบฉับพลันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (sudden stop) เป็นผลจากปัญหา โควิด-19 และมาตรการปิดเมืองของหลายประเทศ ทำให้ EIC คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย และมีแนวโน้มหดตัวที่ -2.1% ในปี 2563 ต่ำกว่าช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2551-2552 ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มหดตัวมากถึง -12.9%

ขณะเดียวกันภาคการท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบจากความกังวลของนักท่องเที่ยวต่อการเดินทางระหว่างประเทศตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนและการรักษาโรคที่ได้ผล และจากรายได้ของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มีแนวโน้มจะลดลงมากและฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่คาด โดยจะลดมาอยู่ที่ 13.1 ล้านคนในปีนี้ หรือ -67% จากปีที่แล้ว

พร้อมกันนี้ในส่วนของการบริโภคสินค้าและบริการของภาคครัวเรือนโดยรวมลดลง มาจากการประกาศปิดเมืองในหลายส่วนของไทย ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่จำเป็นในการควบคุมการระบาดของโรค และจากความกังวลของผู้บริโภคต่อธุรกรรมที่มีลักษณะเจอหน้ากัน หรือ face to face ในช่วงโรคระบาด และการบริโภคมีแนวโน้มลดลงทำให้กระทบจีดีพีไทยปี 2563 หายไปประมาณ -0.6%

ดังนั้นมาตรการภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจและลดผลกระทบต่อแรงงานและภาคธุรกิจ มาตรการที่ได้จัดทำไปในช่วงก่อนหน้า ทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน ส่วนใหญ่มุ่งเน้นในการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ที่ถูกกระทบ ไม่ว่าจะเป็น มาตรการลดภาษี มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การพักหนี้และปรับโครงสร้างหนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน

อย่างไรก็ดี EIC เชื่อว่า ในระยะต่อไป ภาครัฐจะเร่งดำเนินการออกมาตรการการคลัง เพื่อชดเชยรายได้ให้กับแรงงานและผู้ประกอบการที่ตกงานหรือสูญเสียรายได้จาก COVID-19 ทั้งในส่วนการโอนเงินให้กับผู้ถูกกระทบจำนวน 3 ล้านคนที่ประกาศไปแล้ว และการเพิ่มวงเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ถูกกระทบได้มากขึ้น ผ่านการออก พ.ร.ก. กู้เงินฉุกเฉิน ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการอัดฉีดเงินให้ถึงมือของผู้เดือดร้อนได้ตรงจุดและประคับประคองเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วขึ้น

ทั้งนี้ EIC ได้ใส่สมมติฐานวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมผ่านการออก พ.ร.ก. กู้เงินฉุกเฉินจำนวน 200,000 ล้านบาทในการประมาณการเศรษฐกิจรอบนี้แล้วด้วยจึงได้ปรับประมาณการจีดีพีไทยในปีนี้ไว้ในอัตราหดตัว 5.6%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน