นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนพ.ค. 2560 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือนนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2559 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์ระเบิดในกรุงเทพฯ ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรโดยส่วนใหญ่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ และหลายรายการมีราคาปรับลดลงในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาเช่นยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และสัปปะรดโรงงาน เป็นต้น ทำให้กำลังซื้อทั่วไปในต่างจังหวัดขยายตัวต่ำ ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวดีขึ้นมากนัก

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 64.3 70.9 และ 92.7 ตามลำดับ โดยปรับตัวลดลงทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนเม.ย. 2560 ที่อยู่ในระดับ 65.4 71.6 และ 94.0 ตามลำดับ

ทั้งนี้ ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตมากนัก

การปรับตัวลดลงของดัชนีทุกรายการดังกล่าวส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน เช่นเดียวกัน โดยอยู่ที่ระดับ 76.0 การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวขึ้นไม่มากนัก ทั้งนี้ ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวนสูง ราคาพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะราคาข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และยางพารายังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ยังคงเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นโดยรวม

สำหรับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน โดยอยู่ที่ระดับ 53.7 แสดงว่าผู้บริโภครู้สึกว่าภาวะเศรษฐกิจและการจ้างงานในปัจจุบันยังไม่ฟื้นตัวดีนัก ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อสถานการณ์ในอนาคตปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน เช่นเดียวกันโดยปรับตัวสู่ระดับ 85.3 ซึ่งสะท้อนว่าผู้บริโภคยังเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ในอนาคต

การปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการในเดือนนี้ เป็นการปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ซึ่งเป็นการปรับตัวที่อาจเกิดขึ้นชั่วคราวจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้นในเดือนพ.ค. อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบที่เกิดขึ้นควบคู่กันซึ่งอาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 3-6 เดือนข้างหน้าคือการปรับตัวลดลงของสินค้าเกษตรหลายรายการได้แก่ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และสัปปะรดโรงงาน ตลอดจนการทรงตัวระดับต่ำของราคาข้าว ทำให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดซึมตัวลง ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐและเร่งรัดการลงทุนของภาครัฐให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมครอบคลุมทั้งประเทศ เพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชนทั่วประเทศจะช่วยให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการใช้จ่ายของภาคประชาชนปรับตัวดีขึ้นได้อย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้

นอกจากนี้ ปัญหาของการ์ต้า แม้จะไม่มีผลกระทบต่อไทยมากนัก ทั้งเรื่องการท่องเที่ยว และการส่งออก เพราะภาคธุรกิจสามารถปรับตัวได้ แต่ห่วงผลกระทบที่จะมีผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลก และเสถียรภาพของกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งจะกระทบต่อราคาสินค้าเกษตร และสินค้าโภคภัณฑ์ จนกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค ให้มีความรู้สึกเชิงลึกต่อภาวะเศรษฐกิจได้ แต่ทั้งนี้ ยังคงประมาณการการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่าจะขยายตัวได้ 3.5-4% และการส่งออกจะขยายตัวได้ 2-3%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน