นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า กอน.มีมติรับทราบในหลักการและแนวทางการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ในฤดูการผลิตปี 2563/2564 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เสนอ 4 มาตรการ ประกอบด้วย กำหนดนโยบายลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ ในฤดูการผลิตปี 2563/2564 ให้ลดปริมาณอ้อยไฟไหม้เหลือ 20% ปริมาณอ้อยสด 80% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด โดยมีมาตรการกำหนดราคาส่วนต่างให้อ้อยสดมากกว่าอ้อยไฟไหม้ตันละประมาณ 200 บาท ให้มีความคุ้มค่ามากพอและเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดมากขึ้น

การจัดหาเครื่องมือเพื่ออำนวยความสะดวกให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดมากขึ้น โดยใช้งบประมาณกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เช่น การจัดหาเครื่องสางใบอ้อยให้สมาชิกกลุ่มการเรียนรู้เพื่อพัฒนาด้านอ้อย ที่ปัจจุบันมีอยู่ 280 กลุ่ม เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีการรวมกลุ่มและพัฒนาประสิทธิภาพการจัดการอ้อยสด

ในกรณีที่มีนโยบายให้การช่วยเหลือหรือสนับสนุนจากภาครัฐจะให้สิทธิเฉพาะเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดเท่านั้น และออกมาตรการทางกฎหมายเพื่อให้โรงงานมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาไม่ให้ปริมาณอ้อยไฟไหม้เกินกว่า 20% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด

นอกจากนี้ทาง สอน. จะเร่งกำหนดแนวทางในการปฏิบัติ และประชาสัมพันธ์ให้ทุกหน่วยงานและเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับทราบแนวทางลดปริมาณอ้อยไฟไหม้โดยเร็ว เพื่อแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ให้หมดไปจากประเทศไทย ตามคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2562 มีมติให้ฤดูการผลิตปี 2563/2564 เข้มงวดในการกำกับดูแลการลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ตามเป้าหมาย เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (พีเอ็ม 2.5) และแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอ้อยไฟไหม้

ในส่วนของการหีบอ้อยในฤดูการผลิตปี 2562/2563 ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2562-25 มี.ค. 2563 รวมระยะเวลาเปิดหีบ 116 วัน มีปริมาณอ้อยไฟไหม้ 37,183,474 ตัน (คิดเป็น 49.65%) จากปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 74,893,175 ตัน ตามมติ กอน. เห็นชอบให้ปรับสัดส่วนการรับอ้อยไฟไหม้ในแต่ละวันของโรงงานน้ำตาลไม่เกิน 50% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมดต่อวัน ถือเป็นก้าวแรกของความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ที่มีมาอย่างยาวนาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน