นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ได้หารือกับผู้บริหารบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถึงแนวทางแก้ไขปัญหาแอลกอฮอล์ขาดตลาดและมีราคาสูง ซึ่งได้ข้อสรุปให้ปตท. และกฟผ. ประสานรับซื้อเอทานอลจากโรงงานเอทานอลบางแห่งที่สามารถผลิตแอลกอฮอล์ 70% จากผู้ผลิตทั้งหมด 26 แห่ง เพื่อกระจายแจกจ่ายให้ทั่วถึงทั้งประเทศปริมาณ 80,000 ลิตรต่อวัน เป็นระยะเวลา 30 วัน รวมปริมาณทั้งสิ้น 2.4 ล้านลิตร ใช้งบประมาณของปตท.-กฟผ. รวมกัน 120 ล้านบาท

โดยเน้นกลุ่มคนที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเฉพาะหน้า เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้มีความเสี่ยง กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เนื่องจากกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูง ซึ่งการจัดสรรได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการผ่านโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และเครือข่าย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั่วประเทศ คาดจะมีความชัดเจนภายในสัปดาห์หน้า

“นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงและทราบว่าประชาชนต้องการแอลกอฮอล์เป็นอย่างมาก จึงได้กำชับให้กระทรวงพลังงานหาวิธีการกระจายแอลกอฮอล์ถึงประชาชนให้มากที่สุด”

นายพงษ์ชัย ชัยจิรวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) บริษัทในกลุ่มบมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า บีบีจีไอได้รับแจ้งว่ามีการแอบอ้างใบรับรองการวิเคราะห์คุณสมบัติของเอทานอล 95% ผ่านแพลตฟอร์มช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ของร้านค้าหนึ่ง เพื่อประกอบการขายสินค้า โดยที่สินค้านั้นไม่ใช่สินค้าที่ผลิตหรือมีความเกี่ยวข้องกับบริษัทบีบีจีไอแต่อย่างใด

“ยืนยันว่าแอลกอฮอล์ของบริษัทมีจำหน่ายเฉพาะหน้าโรงงานเท่านั้น ไม่มีการจำหน่ายผ่านช่องทางอื่น พร้อมกำหนดให้ผู้ที่ประสงค์ซื้อต้องนำภาชนะมาบรรจุ รวมทั้งรับผิดชอบเรื่องการขนส่งเอง หากมีผู้ใดกระทำการแอบอ้าง บริษัทจะดำเนินการปกป้องสิทธิที่มีตามกฎหมายต่อไป”

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ GC กล่าวว่าบริษัทสนับสนุนตู้โควิเคลียร์ หรือตู้พ่นซิลเวอร์นาโนฆ่าเชื้อ รวมถึงวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อ จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ ไตรเอทานอลเอมีน (Triethanolamine: TEA) ซึ่ง GC เป็นผู้ผลิตเพียงรายเดียวในประเทศไทย และ กลีเซอรีน (Glycerine) ไว้ใช้ร่วมกับตู้โควิเคลียร์ให้กับมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช โดยคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล เพื่อช่วยลดความเสี่ยงให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไปที่จำเป็นต้องมาใช้บริการในโรงพยาบาล ในช่วงภาวะวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19

นอกจากนี้ ได้ร่วมจัดหาวัสดุเพื่อจัดทำชุดอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ จำนวน 100 ชุด เพื่อเป็นโมเดลต้นแบบสำหรับการพัฒนาช่วงแรก และหมวกอัดอากาศป้องกันการติดเชื้อ มีมาตรฐานสูง ใช้เฉพาะในห้องผ่าตัดและไอซียูสำหรับคนไข้โควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงและมีโอกาสแพร่กระจายของเชื้อสูง ป้องกันบุคลากรที่ทำหัตถการหรือที่อยู่ในห้องปฏิบัติการเท่านั้น ไม่ใช่การป้องกันบุคลากรสาธารณสุขโดยทั่วไป จากก่อนหน้านี้ได้บริจาคเสื้อกาวน์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งไปยังโรงพยาบาลในเขตกรุงเทพฯ ชลบุรี ระยอง เป็นจำนวน 84,000 ชุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน