รายงานพิเศษ

พรเทพ อินพรหม

“เรื่อง 4.0 เป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ก่อนหน้านี้ประเทศญี่ปุ่นได้นำร่อง 4.0 และกำลังก้าวเข้าสู่ 5.0 ไปแล้ว นอกจากนี้ ประเทศสิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์และประเทศอื่นๆ ทั่วโลกก็เริ่มขยับแล้ว ซึ่งประเทศไทยเพิ่งเริ่มขยับเมื่อปีเศษที่ผ่านมาขณะที่ก่อนหน้านั้นไม่เคยพูดถึง”

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่ง ในเสวนาหัวข้อ “ฟินเทค นวัตกรรมการเงิน เรื่องใกล้ตัวที่ต้องรู้” จัดโดยบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ในงาน “ก้าวที่ 40 มติชน ก้าวคู่ประเทศไทย 4.0” ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ช่วงเสวนานั้นยังมีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง และนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมพูดคุยด้วย

นายสมคิดกล่าวว่า การเข้าสู่ 4.0 ได้นั้นจะต้องเพิ่มมูลค่าให้สินค้า เพิ่มนวัตกรรมใหม่ สร้างองค์ความรู้จากจุดนั้นก็จึงเกิดเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New S Curve) ต้องการผู้เล่นใหม่ในตลาดหรือ สตาร์ตอัพที่จะเข้ามาร่วมพัฒนานวัตกรรมใหม่ สร้างแรงหนุนใหม่ ให้ระบบเศรษฐกิจให้มีมูลค่ามากขึ้น

“สิ่งสำคัญคือการพัฒนาต้องไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมจริง (เรียล เซ็กเตอร์) เท่านั้น การพัฒนาจะไม่สำเร็จได้หากภาคการเงินไม่พัฒนาคู่ขนานไปด้วย ดังนั้นยุคแห่งดิจิตอลกำลังแผ่เข้าไปทางการเงิน เพียงแต่ในอดีตการเปลี่ยนแปลงการเงินเกิดขึ้นช้า เพราะมีธนาคารพาณิชย์ให้บริการทุกอย่าง ธปท.ดูแลเรื่องเสถียรภาพการเงินที่เหมาะสม แต่สิ่งเหล่านี้มีจุดอ่อนหลายอย่าง”

รองนายกฯ กล่าวและว่า แต่พอดิจิตอลเกิดขึ้นมาก็มีคนนำเทคโนโลยีบวกการเงิน กลายเป็น “ฟินเทค” ที่เป็นนวัตกรรมทางความคิด คนรุ่นใหม่เห็นจุดอ่อนของภาคการเงินและบริการทางการเงิน จึงเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาเพื่ออุดช่องโหว่ดังกล่าว

นายสมคิดบอกอีกว่า เทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนในขณะนี้มีทั้งหมด 3 ช่องทางคือ

1.โทรศัพท์มือถือเคลื่อนที่(โมบายโฟน) ทำให้เกิดบริการใหม่ เพื่อความสะดวกสบาย ลดต้นทุน ความถี่ เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจนับไม่ถ้วน

2.การเชื่อมโยงข้อมูล หรือบิ๊กดาต้า ทำให้ผู้ประกอบการทราบข้อมูลของลูกค้า

และ 3.บล็อกเชน และเงินดิจิตอล เช่น บิตคอยน์ เป็นสิ่งที่มาแรงมากสำหรับคนรุ่นใหม่และมีเสียงเรียกร้องให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศทำบิตคอยน์ขึ้นมาเองด้วย

สรุปคือ “ฟินเทค” เป็นสิ่งที่เร็ว แรง และเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ที่มีความคิดอ่านคิดค้นขึ้นมา เหมือนกับสตาร์ตอัพในเรียลเซ็กเตอร์ แต่เร็วกว่า เพราะอยู่บนพื้นฐานของอินเตอร์เน็ต หากไม่ดำเนินการ ก็ไม่สามารถแข่งกับประเทศอื่นได้ และต้องพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเงินให้ทันต่อการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมจริง

ขณะที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ การกำกับดูแลการเงินการคลังในยุค 4.0 การกำกับดูแลในยุค 4.0 แบ่งเป็น 5 เรื่องสำคัญ คือ

1.เรื่องความมั่นคงด้านการเงินการคลัง

2.การเจริญเติบโต ทุกคนมองว่าช่วยแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง เช่น ประชาชนยากจน เศรษฐกิจไม่โต ต้องมีการกระจายรายได้ ถ้าไม่เจริญเติบโตมีปัญหาแน่

3.ประสิทธิภาพ

4.การลดความเหลื่อมล้ำ ทำอย่างไรเพื่อให้ลดความเหลื่อมล้ำลงได้ อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลต้องทำ

และ 5.ในเรื่องรายได้รัฐบาล เรื่องภาษีจะเก็บเท่าไหร่ เก็บอย่างไร ถือเป็นหัวใจว่าต้องทำให้ได้

รมว.คลังระบุว่าเรื่องความมั่นคง สิ่งที่รัฐบาลทำคือพยายาม มีกฎหมายวินัยทางการเงินการคลังออกมา เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศไทยใช้จ่ายเกินไป ไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต ตัวกฎหมายมีข้อกำหนดว่า การกู้เงิน กู้ได้เท่าไหร่

“ยกตัวอย่างเงินกู้ของประเทศต้องทำให้หนี้ไม่เกิน 60% ของจีดีพี จากตอนนี้ 42% ของจีดีพี คาดว่าทำให้สัดส่วนหนี้สูงสุดไม่เกิน 48-49% ต่อจีดีพี ในอีก 4-5 ปี ข้างหน้า โดยการขาดดุลงบประมาณจะไม่เกิน ปีละ 3% ของจีดีพี และในการจัดทำงบประมาณต้องมีเงินลงทุนเพื่อให้ ประเทศพัฒนา 20-25% ของงบประมาณทั้งหมด ซึ่งกำหนดมาเป็นตัวเลข อย่างน้อยเพื่อเป็นตัวชี้วัดว่าประเทศจะมั่นคง ไทยเคยเจอปัญหา ต้มยำกุ้งทำให้มีบทเรียนต้องระมัดระวังมากขึ้น”

ในเรื่องที่ 2.การเจริญเติบโต โดยในเรื่องฟินเทคเป็นเอสเคิร์ฟ ตัวใหม่ที่ภาคการเงินต้องทำ เพราะในอดีตไม่มีใครทำอาจเพราะไม่มีใครคิดถึง รวมถึงอุตสาหกรรม 10 เอสเคิร์ฟ คือ 5 เก่า 5 ใหม่ และโครงการเขตเศรษฐกิจตะวันออก(อีอีซี)ขึ้นมา เพื่อดึงดูดคนที่เก่ง ทั่วโลกมาอยู่ด้วยกัน

3.ประสิทธิภาพและการแข่งขันของประเทศ สิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ คือ ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทำให้การขนส่ง รถไฟ ดีขึ้น กระทรวงการคลังทำเรื่องอีเพย์เมนต์ผลักดันให้เกิดประสิทธิภาพ ในประเทศ ถ้าอีเพย์เมนต์สำเร็จช่วยประเทศประหยัด ไม่ต้องไปบริหารเงินสด ทำให้เกิดการใช้จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ ลดปัญหาทุจริตจากการจ่ายรับเงินสดได้

4.การลดความเหลื่อมล้ำ ถือเป็นสิ่งที่กระทรวงการคลังให้ความสำคัญ โดยมีการใช้เงิน ใช้งบฯ ช่วย มีการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย เพื่อช่วยให้มีรายได้เพียงพอกับการดำรงชีวิต ตรงนี้จะไม่ใช่แจกเงินฟรีให้รวย แต่รัฐต้องดูแลคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือมีรายได้ ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี แนวคิดคือเติมอะไรให้ได้บ้าง ซึ่งงบประมาณนำมาใช้ ถือว่าคุ้มค่าทำให้คนในประเทศสามารถไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง

และ 5.การจัดเก็บรายได้ โดยการจัดเก็บรายได้ขณะนี้อยู่ที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) มีสัดส่วนถึง 58% ของภาษีที่เก็บได้ ภาษีเงินได้ 48% แต่ภาษีทรัพย์สิน 1% ถือว่าไม่สมดุล รัฐบาลจึงออกภาษีทรัพย์สิน4 ขึ้นมา และพยายามนำภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (อีแทค) มาใช้ ซึ่ง อีแทค เกี่ยวกับไทยแลนด์ 4.0 เพราะเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำบัญชีภาษีให้เป็นบัญชีเดียว

ขณะที่นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ฟินเทค มีประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ทั้งการทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการให้บริการทางการเงินที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งดูแลบัญชีที่กระจัดกระจายให้เข้ามาเป็นบัญชีเดียว และสามารถใช้สมาร์ตโฟนเชื่อมโยงข้อมูลการเงินคล่องตัวมากขึ้น

ทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการลดการเชื่อมโยงกับนานาชาติ และทำให้ไทยมีข้อมูล บิ๊ก ดาต้า มาใช้ในการบริหารความเสี่ยง และการสร้างนวัตกรรมทางการเงินในอนาคต

ขณะเดียวกันสถาบันการเงินเอง ก็ได้ประโยชน์หลายด้าน โดยเฉพาะการลดต้นทุนการบริหารงาน ซึ่งปัจจุบันไทยมีต้นทุนทางการเงินสูงกว่าประเทศอื่นในอาเซียนมาก โดยต้นทุนการทำธุรกรรม 1 ครั้ง อยู่ที่ 60-80 บาท ต้นทุนการบริหารเงินสดรวม 20,000 ล้านบาท รวมถึงต้นทุนทรัพย์สินหลัก จากการตั้งสาขา มีสูงมาก

ปัจจุบันรัฐบาลมีการพัฒนาระบบการเงินมากขึ้น โดยเฉพาะ “พร้อมเพย์” มีผู้มาลงทะเบียนรวม 28 ล้านบัญชี ทำธุรกรรม รวม 7 ล้านครั้ง มูลค่าการทำธุรกรรม 50,000 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตจะมีปริมาณการทำธุรกรรมเพิ่มมากขึ้น เพราะพร้อมเพย์ทำให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินมากขึ้น

“ทั้งหมดเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของสถาบันการเงินดีขึ้นได้”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน