น.ส.จริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ผลการวิเคราะห์และประมาณการณ์ภาวะเศรษฐกิจ (จีดีพี) การเกษตรตลอดปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 2.5-3.5% เมื่อเทียบกับปี 2559 โดยทุกสาขาการผลิตทั้งพืช ปศุสัตว์ ประมง บริการทางการเกษตร และป่าไม้ มีแนวโน้มขยายตัว จากปัจจัยเชิงบวก เช่น สภาพอากาศ ปริมาณน้ำที่เอื้ออำนวยต่อการผลิตมากกว่าปีที่ผ่านมา สถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น แนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่เป็นอาหารและแปรรูปอุตสาหกรรมอื่นเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับเศรษฐกิจโลก และสอดคล้องกับสต๊อกผลผลิตโลกที่ลดลง รวมถึงการดำเนินนโยบายและมาตรการด้านการเกษตรต่างๆ อย่างต่อเนื่องของรัฐบาล

“นโยบายส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ การสร้าง Smart /Young Smart Farmer และยกระดับความเข้มแข็งสหกรณ์ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง พัฒนาในระดับพื้นที่เด่นชัดขึ้น ราคาสินค้าเกษตรอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญให้จีดีพีเกษตร ซึ่งคาดว่าเกษตรกรจะมีรายได้ทางการเกษตร 160,835 บาทต่อครัวเรือน แยกเป็นสัดส่วนจากผลผลิตพืช 70.98% ผลผลิตสัตว์ 25.43% และรายได้ทางการเกษตรอื่น 3.59% ในจำนวนนี้คาดว่าจะมีกำไรสุทธิที่ 3% เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่เกษตรกรมีกำไรสุทธิ 1.2%”น.ส.จริยา กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรแบบรายภาค พบว่า ภาคใต้ คาดว่าภาคเกษตรจะขยายตัวมากที่สุดในช่วง 3.6-4.6% จากการขยายตัวของสาขาพืชและสาขาประมงเป็นหลัก โดยสินค้าเกษตรสำคัญที่คาดว่าจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าว ผลไม้ และกุ้งเพาะเลี้ยง เกษตรกรมีรายได้เงินสดทางการเกษตร 222,622 บาทต่อครัวเรือน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คาดว่าภาคเกษตรจะขยายตัวในช่วง 2.4-3.4% จากการขยายตัวของสาขาพืช สาขาปศุสัตว์ และสาขาประมง เป็นหลัก โดยสินค้าที่คาดว่าจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา หอมแดง โคเนื้อ และไก่เนื้อ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของการจับสัตว์น้ำจืดตามธรรมชาติ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด เกษตรกรมีรายได้เงินสดทางการเกษตร 107,007 บาทต่อครัวเรือน

ภาคกลาง คาดว่าภาคเกษตรจะขยายตัวในช่วง 2.2-3.2% จากการขยายตัวของสาขาพืช สาขาปศุสัตว์ สาขาประมง และสาขาบริการทางการเกษตร โดยสินค้าเกษตรสำคัญที่คาดว่าจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว ผลไม้ อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ไก่เนื้อ สุกร ปลาน้ำจืด และกุ้งเพาะเลี้ยง เกษตรกรมีรายได้เงินสดทางการเกษตร 264,395 บาทต่อครัวเรือน

ภาคเหนือ คาดว่าภาคเกษตรจะขยายตัวในช่วง 1.6-2.6% จากการขยายตัวของสาขาพืชและสาขาบริการทางการเกษตรเป็นหลัก โดยสินค้าเกษตรสำคัญที่คาดว่าจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง ลำไย อ้อยโรงงาน ลิ้นจี่ ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และสับปะรดโรงงาน เกษตรกรมีรายได้เงินสดทางการเกษตร 167,854 บาทต่อครัวเรือน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน