เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) พร้อมเครือข่าย 40 คน เข้าพบพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ และคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อหารือเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ

โดยสยยท. มีหนังสือถึงพล.อ.ฉัตรชัย เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเร่งด่วน 12 ข้อว่า 1.ไทยมียางเป็นอันดับหนึ่งของโลกเราเดินตามหลังตลาดโลก การขายยางล่วงหน้าเป็นอุปสรรคที่ราคายางไม่มีเสถียรภาพ (ซื้อขายกระดาษเหมือนหุ้น ปั่นราคาได้) ประเทศเราควรจัดตลาดซื้อจริง 2.ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กยท. มาตรา 8 ให้ระดับราคายางมีเสถียรภาพ มาตรา 9 ให้ กยท. มีอำนาจทำกิจการต่างๆ (2) ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับยางพารา โดยการจัดตั้งบริษัทเพื่อชี้นำราคาในตลาดประมูลยางทุกแห่ง

3. พ.ร.บ.ควบคุมยาง 2542 มาตรา 6 ในการส่งออกยาง (8) (9) (10) ต้องควบคุมผู้ส่งออกโดยไม่ให้ขายยางต่ำกว่าต้นทุนการผลิตของเกษตรที่ตกลงร่วมกันในไตรภาคี 4. รัฐบาลสนับสนุนเพิ่มมูลค่ายางเป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยาง สนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ และให้หน่วยราชการรับซื้อ (ควรให้แต้มต่อเหมือน BOI) 5. กยท. ตั้งบริษัท และใช้เงินแทรกแซงมาสนับสนุนเกษตรกร รวมกลุ่มเกษตรกรให้ซื้อขายยางเป็นอาชีพเสริมเพื่อนำส่งบริษัท กยท. ที่จัดตั้งขึ้นและในสภาวะราคายางตกต่ำ

6. กำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ชัดเจน 7. มีกฎเกณฑ์ตามข้อตกลง บาหลีเร็กกูเลชั่น มีตลาดร่วมทุน 3 ประเทศ เป็นตัวขับเคลื่อนไปพร้อมกัน 8. ควรกำหนดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรทั้ง 3 ประเทศ ไม่ให้พ่อค้าและต่างประเทศส่งออกต่ำกว่าต้นทุนการผลิต 9. ยางที่ค้างอยู่ในสต๊อก 1.1 แสนตัน ควรนำออกมาขายให้ ใช้ผสมแอสฟัลท์ ลาดถนน โดยตั้งงบประมาณปี 2561 รองรับ

10. สวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และ กยท. ให้ขึ้นทะเบียนไว้เกือบ 2 ปีแล้ว ควรที่จะดำเนินการให้ถูกต้อง 11. กยท. ควรจ่ายเป็นเงินสดให้เกษตรกรจัดหาปุ๋ยเอง เพราะอาจจะนำเงินไปทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ตามนโยบายของรัฐบาลในรูปแบบเศรษฐกิจพอเพียง 12. สยยท. ขอเป็นผู้รวบรวมปัญหาของเกษตรกรชาวสวนยาง และติดตามปัญหาภาพรวมของยางพาราอย่างเป็นระบบครบวงจรเพื่อนำเสนอ กระทรวงเกษตรฯ โดยตรง

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวก่อนเดินทางไปประชุมครม.ว่า มอบหมายให้บอร์ดกยท. ชี้แจงทางแก้ปัญหาอีก 11 ข้อ จากที่ครม. มีมติออกมาแล้ว 4 ข้อ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกันทำงานบูรณาการร่วมกัน ดีกว่าการรวมกลุ่มประท้วง จะนำเรื่องนี้ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ สอบถามในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความคืบหน้าเรื่องการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ โดยพล.อ.ฉัตรชัย ชี้แจงว่าราคายางแผ่นดิบรมควันชั้น 3 เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2560 อยู่ที่กิโลกรัม (ก.ก.) ละ 59.20 บาท จากราคาเมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาอยู่ที่ก.ก.ละ 50 บาท และเมื่อย้อนไปเมื่อเดือนม.ค. 2560 ราคาอยู่ที่ก.ก.ละ 80-90 บาท ก่อนที่จะค่อยๆ ลดระดับลงมา

และจากนี้ไปจะใกล้เริ่มฤดูการเปิดกรีดยางจึงมีความเป็นห่วงว่าราคาจะตกต่ำเหมือนตอนที่รัฐบาลชุดนี้เริ่มเข้ามาบริหารโดยราคายางช่วงปี 2558-7 ม.ค. 2559 ราคายางร่วงลงไปอยู่ที่ก.ก.ละ 34 บาท

ทั้งนี้ รมว.เกษตรฯ รายงานให้ครม. รับทราบว่า ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการมา 2 ระยะ คือระยะที่ 1 ชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกรว่ายางในสต๊อกประมาณ 80,000 ตัน ส่วนนี้มีความชัดเจนว่าจะไม่นำออกมาขาย และอีกหลายเรื่องที่เป็นมาตรการแก้ไขซึ่งเคยเสนอครม.ไปแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการ
ขณะเดียวกันได้เชิญตัวแทนบริษัทที่รับซื้อยางจำนวนมากมาทำความเข้าใจ และขอความร่วมมือในการยกระดับราคาไม่ให้ตกต่ำเหมือนเดิม และสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนคือ ครม.ได้ให้อำนาจคณะของรมว.เกษตรฯ ลงไปตรวจสอบคุณภาพและสต๊อกยางของพ่อค้าตามที่เกษตรกรระบุว่ามีส่วนทำให้ราคายางตกต่ำ จะตรวจทุกอย่างทั้งราคาขาย ราคารับซื้อยาง คุณภาพของยางในสต๊อก เพื่อทำให้เกิดความโปร่งใสและไม่ให้ราคายางตกต่ำ

สำหรับระยะที่ 2 ที่กระทรวงเกษตรฯ จะดำเนินการคือตั้งตลาดกลางรับซื้อยางขนาดใหญ่ 6 แห่ง ในลักษณะซื้อมาขายไปจะไม่เก็บยางไว้ในสต๊อกอย่างเด็ดขาด และมาตรการลดพื้นที่การปลูกยาง ให้เกษตรกรปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ที่ตลาดต้องการ ส่วนตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่มักทำให้ราคาตกต่ำนั้น จะนัดหารือเพื่อตั้งตลาดของ 3 ประเทศในระดับผู้ว่าการยางคือสิงคโปร์ มาเลเซียและไทย เพื่อจะซื้อขายยางจริงไม่ใช่แค่ซื้อขายในกระดาษแบบที่เคยทำมา และจะหารือกับรัฐมนตรีเกษตรของกลุ่มอาเซียนทั้งหมด เพื่อให้เดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนประเด็นที่นายกรัฐมนตรีเคยสั่งการให้แต่ละกระทรวงสำรวจความต้องการใช้ยางของหน่วยงานในสังกัดซึ่งมีจำนวนหลายแสนตัน แต่ปัญหาที่ทำให้ไม่เกิดการขับเคลื่อนเนื่องจากกระทรวง มีความจำเป็นที่จะใช้งบประมาณไปดำเนินการตามแผนงานที่มีอยู่ ไม่สามารถแบ่งงบประมาณมาทำภารกิจเรื่องการจัดซื้อยางมาทำวัสดุอุปกรณ์ตามที่เคยระบุไว้ได้ จึงให้แต่ละกระทรวงให้ความสำคัญในเรื่องนี้และพิจารณาจัดสรรงบประมาณมาดำเนินการในภารกิจที่มีข้อตกลงว่าจะรับซื้อยางในประเทศมาใช้ ถ้างบประมาณไม่มีจะขอในส่วนไหนให้นำเสนอมา ซึ่งครม.จะพิจารณาเป็นกรณีไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน