พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานรายงานให้ที่ประชุมครม. รับทราบถึงแนวทางการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งเป็นไปตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม ที่ต้องการให้รัฐจัดตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่บริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมให้เกิดประโยชน์สูงสุด

โดยชี้แจงว่า หลังจากกฎหมายดังกล่าวประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้แล้ว กระทรวงพลังงานจะเร่งจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาภายใน 60 วัน เพื่อศึกษารูปแบบและวิธีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่เหมาะสมให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี

สำหรับข้อสังเกตดังกล่าว กระทรวงพลังงานพิจารณาแล้ว และเห็นด้วยว่าควรมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาความเหมาะสมของการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ รวมถึงรูปแบบ รายละเอียด และวิธีการในการจัดตั้ง โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการชุดนี้ ควรมาจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้สามารถทำการศึกษาให้ครอบคลุมทุกประเด็น และควรมอบหมายให้หน่วยงานที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียในกิจการปิโตรเลียม และมีความเข้าใจในหลักการของการจัดตั้งองค์กร คือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นหน่วยงานหลักในการศึกษาเรื่องดังกล่าว โดยมีกระทรวงพลังงาน สนับสนุนข้อมูลด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้ กมธ. ยังมีข้อสังเกตเรื่องการทำสัญญาแบ่งปันผลผลิต โดยเสนอให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ นำแนวทางในการกำหนดส่วนแบ่งปันผลผลิตที่เป็นแบบขั้นบันไดมาใช้ในสัญญาแบ่งปันผลผลิต เพื่อให้ผู้รับสัญญามีแรงจูงใจในการดำเนินงานนั้น กระทรวงพลังงาน ชี้แจงว่า การบริหารจัดการปิโตรเลียมภายใต้กฎหมายฉบับนี้ จะแบ่งออกเป็น 3 ระบบ คือ สัมปทานปิโตรเลียม, สัญญาแบ่งปันผลผลิต และสัญญาจ้างบริการ ซึ่งการเลือกใช้ระบบใดนั้น จะมีหลักในการพิจารณาโดยใช้ข้อมูลศักยภาพของแหล่งปิโตรเลียมเป็นหลัก และคำนึงถึงผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับและต้องจูงใจผู้ลงทุน

ดังนั้นภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิตในร่างกฎหมายฉบับนี้ สำหรับการออกประกาศเชิญชวนในแต่ละครั้ง กระทรวงพลังงานสามารถนำข้อสังเกตของกมธ. มาปรับใช้ได้ แต่ก็ให้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ และสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงเวลานั้น โดยอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายที่กำหนดสัดส่วนเอาไว้ไม่เกิน 50%

ขณะเดียวกันยังเสนอให้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการปิโตรเลียม โดยแต่งตั้งบุคคลที่มาจากองค์กรภาคประชาสังคม ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน และด้านการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีคุณสมบัติในการเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในสาขาธรณีวิทยา วิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเงิน กฎหมาย หรือสาขาอื่นที่เป้นประโยชน์กับกิจการปิโตรเลียม โดยกระทรวงพลังงาน ชี้แจงว่า ในอนาคตก็พร้อมพิจารณาแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิตามข้อเสนอดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ตามข้อสังเกตที่กมธ.ต้องการให้ดำเนินการให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติ และประชาชน ทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ รายงานว่า กรมฯได้ดำเนินการตามหลักการดังกล่าวมาตลอด โดยการประกอบกิจการปิโตรเลียมที่ผ่านมาสามารถเก็บค่าภาคหลวง ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ส่งเป็นเงินรายได้แผ่นดินประมาณ 1.83 ล้านล้านบาท และทำให้เกิดการพัฒนาประเทศในโครงการต่างๆ ตามมา โดยถ้านับเฉพาะค่าภาคหลวงที่จัดเก็บจากการประกอบกิจการปิโตรเลียมบนบก มีการจัดสรรเงินลงไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้วกว่า 60%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน