นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการและโฆษก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กฟผ.อยู่ระหว่างปรับแผนผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเป็น 2,000 เมกะวัตต์ คิดเป็น 10% ของแผนแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (เออีดีพี 2015) จากเดิมกำหนดไว้ที่ 514 เมกะวัตต์ ตามนโยบายของปลัดกระทรวงพลังงานที่ให้ลงรายละเอียดให้ชัดเจนมากขึ้นในแต่ละช่วงปี คาดว่าจะเสนอกลับไปยังกระทรวงพลังงานพิจารณาได้ภายในเดือนก.ค.นี้

“เบื้องต้นประเมินว่าจะทำให้เกิดการลงทุนในช่วงปี 2558-2579 ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ซึ่ง กฟผ. รับผิดชอบในแผนเออีดีพี 2015 จากเดิม 514 เมกะวัตต์ เป็น 2,000 เมกะวัตต์ คิดเป็นเพียงประมาณ 10% ของแผนเออีดีพี 2015 เท่านั้น แต่เมื่อรัฐมีนโยบายให้ปรับเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนของแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี 2015) เป็น 40% ก็คงต้องมาดูว่าสุดท้าย กฟผ.จะต้องเพิ่มผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 2,000 เมกะวัตต์ด้วยหรือไม่”นายสหรัฐกล่าว

สำหรับแผนผลิตไฟจากพลังงานหมุนเวียน กฟผ. แบ่งเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ 900 เมกะวัตต์ สัดส่วน 45.4% ชีวมวล 598 เมกะวัตต์ สัดส่วน 29.5% พลังงานลม 230 เมกะวัตต์ สัดส่วน 11.5% น้ำ 165 เมกะวัตต์ สัดส่วน 8.2% ก๊าซชีวภาพ 56 เมกะวัตต์ สัดส่วน 2.8% ขยะมูลฝอยชุมชน 50 เมกะวัตต์ สัดส่วน 2.5% และพลังงานความร้อนใต้พิภพ 2 เมกะวัตต์ สัดส่วน 2.1%

นายสหรัฐ กล่าวว่า ขณะนี้ กฟผ. เตรียมหารือกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อศึกษาแนวทางการเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ภายใต้พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) โดยอัตราผลตอบแทนของกิจการจะต้องไม่สูงไปกว่าของกฟผ.

อีกทั้ง ยังร่วมกับ กกพ. ศึกษาแนวทางต่อยอดการร่วมลงทุนกับเอกชนในลักษณะโครงการประชารัฐ เพื่อสนับสนุนเกษตรกรโดยเฉพาะโรงไฟฟ้าชีวมวลที่อาจส่งเสริมการปลูกไม้โตเร็วในการนำมาผลิตไฟฟ้าไว้ใช้เองก่อนเหลือส่งจำหน่ายเข้าระบบ

สำหรับความคืบหน้าโครงการประมูลโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ในส่วนท่าเรือ และรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) คาดจะแล้วเสร็จและสามารถเริ่มเปิดประมูลได้ใหม่อีกครั้งในปี 2563

“เบื้องต้นกลุ่มบริษัทอิตาเลี่ยนไทยและบริษัท พาวเวอร์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น ออฟ ไชน่า (พีซีซีซี) ที่ชนะประมูลโครงการดังกล่าวได้หารือกับ กฟผ.แล้วว่าไม่สามารถยืนราคาเดิมที่ประมูลไว้ได้ เนื่องจากกำหนดการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ต้องเลื่อนไปจากปี 2559 เป็นปี 2563 ทำให้บริษัทไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน