ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2560 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เผยแพร่ประกาศกระทรวงการคลัง ลงนามโดยนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เรื่องลดอัตราภาษีสรรพสามิต ฉบับที่ 138 โดยระบุให้ลดภาษีรถยนต์ 4 ประเภท ได้แก่ รถยนต์นั่งกึ่งบรรทุก (พีพีวี) ที่มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,250 ลูกบาศก์เซนติเมตร (ลบ.ซม.) และเป็นรถยนต์แบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า (ไฮบริด) ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 175 กรัมต่อกม. ได้รับการลดอัตราภาษีสรรพสามิตลง เหลือ 23% ให้รถยนต์นั่งที่มีกระบะ (ดับเบิ้ล แค็บ) ที่มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,250 ลบ.ซม. และเป็นรถยนต์แบบไฮบริด ได้รับการลดอัตราภาษีสรรพสามิตลง เหลือ 10%

ขณะที่รถยนต์นั่งแบบไฮบริดที่มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 ลบ.ซม. ได้รับการลดอัตราภาษีสรรพสามิตลงกึ่งหนึ่งของอัตราภาษีที่ได้รับการลดอัตราภาษีสรรพสามิตตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องลดอัตราและยกเว้นภาษี สรรพสามิต (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 30 ธ.ค. 2534 และให้รถยนต์นั่งแบบพลังงานไฟฟ้า (อีวี) ได้รับการลดอัตราภาษีสรรพสามิตลงเหลือ 2%

นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต กล่าวว่า การปรับลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ครั้งนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย. 2560 จนถึง 31 ธ.ค. 2568 โดยวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ประหยัดพลังงาน ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในเมืองไทย ทั้งรถยนต์ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งยืนยันว่ายังไม่มีผลกระทบต่อราคารถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงรถยนต์ไฮบริด ที่ขายในท้องตลาดทุกวันนี้ เนื่องจากภาษีจะมีผลต่อรถยนต์ที่จะเกิดจากการลงทุนใหม่ในอนาคต ซึ่งปัจจุบันรถยนต์ส่วนใหญ่ที่ได้รับการลดภาษีดังกล่าวยังไม่เคยมีการผลิตในไทย ยกเว้นรถเก๋งไฮบริดที่มีผลิตแต่ยังไม่เข้าหลักเกณฑ์เงื่อนไขของบีโอไอและกรมสรรพสามิตกำหนด

รายละเอียดการลดภาษีรถยนต์นั่งกึ่งบรรทุกจาก 25% เหลือ 23% และรถยนต์นั่งที่มีกระบะลดจากภาษีลง 2% จาก 12% เหลือ 10% ขณะที่รถยนต์นั่งหรือรถเก๋งไฮบริด จะลดลงกึ่งหนึ่งจากเดิมคิดอัตรา 10-30% ก็จะลดเหลือ 5-15% ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าลดจาก 10% เหลือ 2%

ผู้ที่จะได้รับการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์ไฮบริดหรือรถยนต์พลังงานไฟฟ้า จะต้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และต้องยื่นหนังสือแจ้งขอลดภาษีและทำข้อตกลงกับกรมสรรพสามิตก่อนเริ่มการผลิตรถยนต์วันที่ 31 ธ.ค. 2563 และตั้งแต่ปีที่ 5 นับตั้งแต่ทำข้อตกลงกับกรมสรรพสามิต รถยนต์ไฮบริดหรือรถยนต์อีวีที่ผลิตทุกคัน ต้องใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตหรือประกอบจากผู้ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอประเภทลิเธียมไอออน หรือนิกเกิลเมทัลไฮไดรด์ หรือแบตเตอรี่ประเภทอื่นที่ให้พลังงานจำเพาะโดยน้ำหนักที่สูงกว่าประเภทลิเธียมไอออน หรือนิกเกิลเมทัลไฮไดรด์

“การลดภาษีครั้งนี้จะช่วยให้เกิดการลงทุนใหม่ในประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทรถยนต์สามารถวางแผนการลงทุนและการผลิตรถยนต์ได้ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า แต่มีเงื่อนไขว่าตั้งแต่ปีที่ 5 เป็นต้นไป รถยนต์ที่ได้รับการยกเว้นภาษีทุกคันจะต้องใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในไทย ขณะเดียวกันการลดภาษีกำหนดระยะเวลา 8 ปี ถึงสิ้นปี 2568 เพื่อสอดคล้องกับเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงต้องมีการทบทวนอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในอนาคตเสมอๆ”

ด้านนายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ความเห็นเกี่ยวกับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฮบริดว่า ภาคเอกชนเห็นด้วยกับโครงสร้างภาษีดังกล่าว เพราะจะทำให้ราคารถยนต์ไฮบริดลดลง 10-20% จากราคาปัจจุบันมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับราคารถยนต์ปกติในรุ่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังเป็นการปูทางไปสู่การผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งปัจจุบันยังติดปัญหาเรื่องสถานีชาร์ตไฟที่ยังมีไม่ทั่วถึง จึงไม่จูงใจให้คนใช้เท่าที่ควร

“ในอีก 10 ปีข้างหน้า กระแสความต้องการรถยนต์ไฮบริดจะเพิ่มมากขึ้น สถานการณ์การผลิตรถยนต์ไฮบริดในตลาดยุโรปก็มีแนวโน้มจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตรถยนต์ไฮบริดมากถึง 70% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด รวมถึงแนวโน้มการผลิตรถยนต์ทั่วโลก เนื่องจากต้องการลดการปล่อยมลพิษลงด้วย”นายศุภรัตน์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน