น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวถึงการส่งออกเดือนพ.ค. 2560 ว่า ขยายตัวสูงสุดในรอบ 52 เดือน ที่ 13.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่า 19,944 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยการส่งออกขยายตัวดีขึ้นในทุกตลาดสำคัญ และขยายตัวในระดับสูงในทุกกลุ่มสินค้า ซึ่งสินค้าส่งออก 50 อันดับแรกเป็นบวกถึง 43 รายการ

โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ที่ 17.6% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สินค้าส่งออกที่ขยายตัวดี ได้แก่ ยางพารา ขยายตัว 44.7% ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 36.8% ตามการส่งออกทุเรียนสดที่ขยายตัวถึง 159.3% น้ำตาลทราย ขยายตัว 46.5% ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ขยายตัว 21.2% และข้าว ขยายตัว 1.9%

อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยังคงหดตัวที่ 14.0% เนื่องจากการชะลอการสั่งซื้อจากจีนเป็นหลัก ขณะที่ราคากลับมาขยายตัวเป็นเดือนแรก นอกจากนี้ กุ้งสดแช่แข็งและกุ้งแปรรูป หดตัวลง 1.3% จากปัจจัยด้านราคา ขณะที่ปริมาณยังคงขยายตัวได้เล็กน้อย รวม 5 เดือนแรก กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 12.3%

ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ 12.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง 54.0% รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัว 8.7% แผงวงจรไฟฟ้า 30.4 % คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ 11.0% ในขณะที่สินค้าที่ยังคงหดตัว ได้แก่ ทองคำ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ หดตัว 72.2% 2.4% และ 0.5% ตามลำดับ รวม 5 เดือนแรก กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 6.1%

ขณะที่ตลาดส่งออกสำคัญ ก็ขยายตัว เช่น ตลาดยุโรป ขยายตัว 13.3% รวม 5 เดือนแรก ขยายตัว 7.7% ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัว 8.8% รวม 5 เดือนแรก ขยายตัว 7.0% ตลาด CLMV ขยายตัว 14.3% รวม 5 เดือนแรก ขยายตัว 13.7% ตลาดอาเซียน 5 ขยายตัว 14.2% รวม 5 เดือนแรก ขยายตัว 0.3% ตลาดตะวันออกกลาง ขยายตัว 11.7% ขยายตัวสูงสุดในรอบ 38 เดือน ที่ 22.9% แต่รวม 5 เดือนแรก ยังหดตัว 11.5%

ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 19,000 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 18.2% ส่งผลให้การค้าเกินดุล 944 ล้านดอลลาร์ รวม 5 เดือนแรกการส่งออกมีมูลค่า 93,265 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 7.2% การนำเข้ามีมูลค่า 88,211 ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้น 15.2% และการค้าเกินดุล 5,054 ล้านดอลลาร์

“จากตัวเลขการส่งออกที่เป็นบวกแสดงว่าแนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 2560 จะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าปีก่อนจากเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น แม้ว่าค่าเงินบาทจะยังผันผวนแต่ก็ยังไม่ส่งผลต่อการส่งออกไทย ซึ่งมั่นใจว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเอาอยู่ และเอกชนก็ปรับตัวได้พอสมควรแล้ว แต่ที่ต้องจับตาและอาจมีผลต่อการส่งออกคือราคาน้ำมัน รวมทั้งการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) แต่ขณะนี้กระทรวงยังคงเป้าหมายเดิมไว้ที่ 5%”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน