นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า กรมธนารักษ์ จัดหาที่ราชพัสดุอีก 2-3 แปลง มีจำนวนพื้นที่รวม 3,000-4,000 ไร่ ใน จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยสร้างเป็นเมืองใหม่ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยรองรับคนที่จะมาทำงานในอีอีซี ซึ่งปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของทหารเรือ

ขณะเดียวกันกรมยังพร้อมสนับสนุนพื้นที่ราชพัสดุแปลงใหญ่อีก 2 แปลงที่อยู่ในเป้าหมายของคณะกรรมการอีอีซี ได้แก่ 1. แปลงบมจ. กสท โทรคมนาคม ที่ ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เนื้อที่ที่เป็นที่ราชพัสดุทั้งแปลงประมาณ 759 ไร่ ซึ่งทาง กสท. มีแผนพัฒนาจัดตั้งเป็นศูนย์กลางการลงทุนและการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านดิจิทัล หรือ Digital Park Thailand ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล และ 2. แปลงสนามบินอู่ตะเภา ที่ปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของกองทัพเรือกว่า 14,000 ไร่

“ธนารักษ์มีที่ราชพัสดุจำนวน 12,000 ไร่ครอบคลุม 3 จังหวัดได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา โดยขณะนี้ได้อนุมัติที่ราชพัสดุรองรับโครงการอีอีซี ไปแล้วจำนวน 7,330 ไร่แบ่งเป็นสนามบินอู่ตะเภากว่า 6,500 ไร่ ที่เป็นพื้นที่ที่ไม่มีการบุกรุก และ Digital Park Thailand อีกราว 800 ไร่”นายพชรกล่าว

โดยในส่วน Digital Park Thailand ของ กสท นี้ จะใช้เวลาศึกษารายละเอียดอีกประมาณ 1-2 เดือน เบื้องต้นการพัฒนาพื้นที่จะแบ่งออกเป็น 4 โซนด้วยกัน ประกอบด้วย 1. ศูนย์การเรียนการสอนหลักสูตรเกี่ยวกับดิจิทัล รวมถึงการจัดตั้งห้องปฏิบัติการร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับเอกชน 2. โซนการลงทุนและสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านดอจิทัล 3. โซนด้านเทคโนโลยีดาวเทียม และ 4. ตอนที่พักอาศัยโรงแรมห้างสรรพสินค้าและศูนย์กีฬา

นายพชร กล่าวอีกว่า กสท สามารถให้เช่าช่วง โดยพัฒนาพื้นที่ให้เอกชนมาลงทุนได้ เนื่องจากกฎหมายที่ราชพัสดุให้ทำได้ ขณะที่กรมจะพิจารณาอัตราค่าเช่าใหม่จาก กสท จากเดิมที่จ่ายค่าเช่าอยู่ที่ 23 ล้านบาทต่อปี ซึ่งต้องพิจารณากันอีกทีตามการลงทุนที่จะเกิดขึ้นจริง และจะไม่เท่ากัน ขึ้นกับลักษณะโครงการ อย่างไรก็ดี หากเป็นการพัฒนาในเชิงพาณิชย์ ก็จะคิดที่ 3% ของทรัพย์สิน (ROA)

“ปัจจุบัน ในช่วงที่กฎหมายอีอีซี ยังไม่ผ่าน ทางกรมธนารักษ์จะเดินหน้าตามกฎหมายที่ราชพัสดุไปก่อนในเรื่องการเช่าที่ ซึ่งจะให้เช่าได้ 30 ปี แต่พอกฎหมาย อีอีซี ออกมา ก็อาจจะให้มากกว่านี้”อธิบดีกรมธนารักษ์กล่าว

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี กล่าวว่า Digital Park Thailand จะเป็นจุดไฮไลต์ของอีอีซี โดยจัดการศึกษาเบื้องต้นประเมินว่าจะมีเงินลงทุนประมาณ 5 หมื่นล้านบาท มีการจ้างงาน 1 แสนตำแหน่ง และสร้างรายได้ 8-9 หมื่นล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ เมื่อศึกษาเสร็จแล้วจะต้องเสนอให้คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกอนุมัติเป็นเขตส่งเสริมการลงทุนต่อไป ซึ่งเบื้องต้นสิทธิประโยชน์ที่จะให้กับนักลงทุน จะคล้ายกับสิทธิประโยชน์ที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้ แต่จะมีเพิ่มเติม อาทิ การลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 17% ของกระทรวงการคลัง ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการจะอนุมัติหลักสูตรการศึกษาให้เร็วขึ้นในกรณีมาตั้งสถาบันการศึกษา เป็นต้น

นายคณิศ กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 19 ก.ค.นี้ จะมีการประชุม คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยจะมีการพิจารณาอนุมัติโครงการพัฒนาท่าเรือ 3 โครงการ อาทิ ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 มูลค่าลงทุนราว 1 แสนล้านบาท เป็นต้น โครงการรถไฟรางคู่ มูลค่า 2-3 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ยังจะเสนอที่ประชุมพิจารณาเรื่องการปรับปรุงกระบวนการให้เอกชนร่วมลงทุนในอีอีซี แบบ PPP ที่จะลดขั้นตอนเหลือต่ำกว่า PPP Fasttrack ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน