นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในวันที่ 29 มิ.ย. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะนัดประชุมบอร์ด สศช. เพื่อพิจารณาอนุมัติ โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง เฟสที่ 1 เส้นทาง กทม.-โคราช ระยะทาง 252.5 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 179,412 ล้านบาท หากได้รับความเห็นชอบ กระทรวงจะนำเรื่องเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการได้ในเดือนก.ค. ซึ่งล่าช้ากว่าเป้าหมายเดิมที่จะเสนอในเดือนมิ.ย. คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนก.ย.

สำหรับโครงการดังกล่าวจะก่อสร้างเริ่มต้นจากกทม.-สิ้นสุดหนองคาย รวมระยะทางทั้งสิ้น 603 กิโลเมตร โดยแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 กทม-โคราช ระยะทาง 250 กม. และระยะที่ 2 โคราช-หนองคาย อีก 350 กม.

ยืนยันว่าเป็นโครงการมีประโยชน์กับไทย เนื่องจากปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทย โดยไทยมีการส่งออกสินค้าไปยังจีนคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 20% หากมีการเชื่อมต่อการเดินทางจะช่วยสนับสนุนทั้งการส่งออกและวัตถุดิบ สินค้า รวมถึงไปถึงการท่องเที่ยวระหว่างกันให้เพิ่มมากขึ้นด้วย

นายอาคมกล่าวถึงการบริหารการเดินรถในเส้นทางดังกล่าวว่า ฝ่ายไทยจะเป็นผู้บริหารการเดินรถเองทั้งหมด แม้กระทั่งคนขับรถเปิดให้บริการวันแรกก็ต้องเป็นคนไทย รวมไปสิทธิ์ในการพัฒนาที่ดินบริเวณ 2 ข้างทางและบริเวณโดยรอบสถานีตลอดเส้นทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะเป็นเจ้าของสิทธิ์

ทั้งนี้ รฟท. จะต้องกลับไปศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์เพิ่มเติมก่อน เพราะผลการศึกษาเดิมครอบคลุมเฉพาะ กทม.-โคราช ยังไม่ได้ต่อเชื่อมยาวไปจนถึงหนองคาย เบื้องต้นคาดว่าจะใช้รูปแบบพีพีพี คือเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบ โดยจะนำร่องพัฒนาบริเวณสถานีของ อ.ปากช่องได้ก่อน ตามมาด้วย พื้นที่บริเวณ อ.สีคิ้ว รวมทั้งสถานีของพื้นที่อำเภอเมืองของจ.อยุธยา สระบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย

สำหรับแนวเส้นทางในการก่อสร้างส่วนใหญ่ 80% จะใช้แนวทางรถไฟเดิมที่มีอยู่แล้ว ส่วนอีก 20% อาจจะต้องมีการเวนคืนที่ดิน บางส่วน เพื่อปรับแนวเส้นทางโค้งให้ตัดเป็นทางตรงเพื่อให้รถไฟความเร็วสูงสามารถวิ่งได้สะดวก ทั้งนี้ อาจจะต้องมีการเวนคืนที่ดิน และอีกบางส่วนจะต้องขอเข้าใช้พื้นที่ของกรมป่าไม้ และพื้นที่เหมืองแร่

นายอาคม กล่าวถึงประเด็นเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีนั้น ขอยืนยันว่า เรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญไม่ได้ละเลย มีการพูดคุยตั้งแต่การประชุมครั้งแรก และในร่างสัญญาก็ได้มีการระบุเรื่องดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน ทั้งเทคนิคการก่อสร้างเทคนิคการเดินรถ รวมถึงการฝึกอบรมในขณะปฏิบัติงาน (โอเจที) โดยให้บุคลากรไทยประกบกับเจ้าหน้าที่จีน เพื่อเรียนรู้วิธีการออกแบบ วิธีคุมงาน วิธีขับรถ และบำรุงรักษ์

ทั้งนี้ แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่ได้มีการลงนามในร่างสัญญา แต่มีการส่งบุคลากรจากไทยไปแล้วกว่า 250 คน โดยเป็นเจ้าหน้าที่ของ รฟท. และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปแล้วกว่า 60 คน รวมทั้งขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งอาจารย์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำ อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยรังสิต กว่า 20 คน ไปศึกษาดูงานที่ประเทศจีน

นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สำหรับเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของโครงการนั้น กระทรวงมอบหมายให้รฟท. มีการตรวจสอบคู่ขนานทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการที่จีนเป็นผู้ศึกษา รฟท.ก็ได้มีการจ้างที่ปรึกษาเพื่อตรวจสอบ รวมไปถึงขั้นของการออกแบบ ก่อสร้าง ก็จะมีวิศวกรของไทยตรวจการตรวจสอบทุกขั้นตอน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน