นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า กสอ. เร่งขับเคลื่อนมาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมตามนโยบายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เพื่อช่วยเหลือ 4 กลุ่มเป้าหมาย ภายใต้แนวคิดของการส่งเสริมแบบ “ปรับตัวให้ถูกทางอย่างยั่งยืน” ด้วยการผันงบประมาณจากงบปกติกว่า 150 ล้านบาท ช่วยฟื้นฟูผู้ประกอบการอย่างเร่งด่วนให้ดีพร้อม ภายในระเวลา 90 วัน คาดจะสามารถสร้างมูลทางเศรษฐกิจกว่า 800 ล้านบาท กระตุ้นอัตราการขยายตัวในกลุ่มเอสเอ็มอีของประเทศ ภายในระยะ 90 วัน ทั้งยังได้เตรียมนำเสนอมาตรการฟื้นฟูในระยะยาวจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ฯ เพื่อเสริมแกร่งให้กับผู้ประกอบการอย่างเต็มความสามารถต่อไป ได้แก่

การมุ่งพัฒนาเอสเอ็มอีให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถและยกระดับความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งพัฒนาองค์ความรู้ที่จำเป็นในยุคความปกติแบบใหม่ ผ่านกิจกรรมและโครงการ อาทิ การให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกแก่เอสเอ็มสู้วิกฤตโควิด-19 จากผู้เชี่ยวชาญเพื่อบริหารจัดการธุรกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุด การจัดทำแผนช่วยขับเคลื่อนองค์กรอย่างมีศักยภาพทั้งในภาวะวิกฤตและภาวะปกติ ซึ่งคาดว่าจะสามารถฟื้นฟูผู้ประกอบการกว่า 4,000 กิจการ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 448 ล้านบาท

การพัฒนาชุมชน/วิสาหกิจชุมชนในท้องถิ่นด้วยการเชื่อมโยงเทคโนโลยีกับการท่องเที่ยว ส่งเสริมการใช้เครื่องจักรและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพการประกอบการให้แก่ชุมชนท้องถิ่นให้ได้มาตรฐานและมีขีดความสามารถในการแข่งขันผ่านการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวภายใน 1 วัน กระตุ้นการท่องเที่ยวในชุมชน การพัฒนาแพลตฟอร์มโลจิสติกส์และการบริหารคลังสินค้า พัฒนาทักษะให้กับวิสาหกิจชุมชนและหาช่องทางประกอบกิจการ ผ่านกิจกรรมจัดทำแผนพัฒนาธุรกิจชุมชน ร่วมกับทีมนักศึกษาเพื่อยกระดับชุมชนให้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพเพิ่มขึ้นและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนโดยการนำองค์ความรู้ นวัตกรรม ทุนทางวัฒนธรรม มาผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษามาพัฒนาชุมชน คาดว่าจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้กับวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงกว่า 11 ชุมชน เพิ่มรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์และการท่องเที่ยวเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 87 ล้านบาท

การพัฒนาทักษะการบริหารจัดการเกษตรกรสู่การเป็นเกษตรอุตสาหกรรม ลดความเสี่ยงในการประกอบอาชีพเชิงเดี่ยวยกระดับชุมชน และสร้างรายได้ในท้องถิ่น ยกระดับรวมทั้งพัฒนาทักษะการค้าออนไลน์ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าและสร้างรายได้ให้กับภาคการเกษตร ผ่านกิจกรรมและโครงการ อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ใหม่ด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยีสมัยใหม่ การขยายผลงานวิจัย พร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ต่อยอดสู่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงในเชิงพาณิชย์ เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรแปรรูปที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ตั้งเป้าหมายการพัฒนาธุรกิจเกษตร 100 กิจการ 100 ผลิตภัณฑ์ คาดจะสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ลดต้นทุนการผลิตของเอสเอ็มอียอดขายและรายได้เพิ่มขึ้นรวมกว่า 78 ล้านบาท

การสร้างโอกาสทางอาชีพให้แก่ประชาชน แรงงาน และบัณฑิตจบใหม่ กลุ่มเป้าหมาย ด้วยการปรับ-เพิ่ม-สร้างทักษะใหม่ (Reskill-Upskill-NewSkill) สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพอิสระ เพื่อเป็นทางเลือกในการทำธุรกิจรองรับแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชน ลดปัญหาความแออัดของชุมชนเมืองในระยะยาว และลดอัตราการว่างงานจากการปิดกิจการ การเลิกจ้าง ผ่านกิจกรรมและโครงการอาทิ การจัดทำองค์ความรู้เรื่องรูปแบบธุรกิจชุมชนที่มีศักยภาพในประกอบการ การอบรมออนไลน์ หัวข้อพัฒนาการประกอบการธุรกิจชุมชน พร้อมเร่งพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ และต้นแบบตัวอย่างการประกอบธุรกิจเพื่อเสริมศักยภาพในทักษะที่อยู่ในความต้องการ ปัจจุบัน อาทิ ช่างอิเล็กทรอนิกส์ช่างอุตสาหกรรม หรือ ทักษะในเชิงวิชาชีพ โดยจะพัฒนาทักษะการบริการจัดการ เพื่อเพิ่มโอกาสสำหรับคนว่างงานโดยอาศัยความพร้อมในด้านต่างๆ จากท้องถิ่น วิสาหกิจชุมชนผนวกเข้ากับองค์ความรู้ที่แต่ละคนสำเร็จการศึกษา คาดว่าจะสามารถพัฒนาไปสู่การมีงานทำได้กว่า 6,000 คน และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 185 ล้านบาท

สำหรับ “คนว่างงาน” ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่าน กสอ. ได้มีการพัฒนาโครงการพิเศษเพื่อสร้างโอกาสเป็นผู้ประกอบการ โดยจัดอบรมออนไลน์การประกอบธุรกิจ การเขียนแบบจำลองธุรกิจออนไลน์และแผนทดสอบการตลาด ซึ่งกำหนดคนเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 2,500 คน และยังคาดว่าไม่ต่ำกว่า 15% ของที่เข้าร่วมอบรม ซึ่งจะสามารถพัฒนาเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ได้ทันทีคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 75 ล้านบาท โดยธุรกิจที่คาดว่าจะสามารถพัฒนาเป็นผู้ประกอบการได้ อาทิ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ หุ่นยนต์ โลจิสติกส์ ดิจิตอล การแพทย์และสาธารณสุขแฟชั่น เกษตรแปรรูป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน