นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้รับรายงานจากรมอุตุนิยมวิทยา หลังไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่าในปีนี้ปริมาณน้ำฝนจากมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยจะปริมาณน้ำฝนปีนี้จะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 5% เทียบกับปีที่ผ่านมาปริมาณน้ำฝนในประเทศไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 11% หากย้อนหลังกลับไปในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าสถิติปริมาณน้ำฝนของไทยจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5-10% ทุกปี ที่เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงของค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝนดังกล่าว จึงเรียกได้ว่าเป็นค่าเฉลี่ยปกติใหม่ หรือ ดังนั้นปริมาณค่าน้ำฝนดังกล่าวทุกปี น่าจะเป็นค่าปกติใหม่ หรือ นิวนอร์มัล (new normal)

กรมอุตุฯ คาดว่าในปีนี้จะมีพายุเข้ามาในเขตประเทศไทย 2 ลูก ในช่วงเดือนส.ค.-ต.ค. แต่ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนก.ค.-มิ.ย. อาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง และเกษตรกรสามารถปลูกข้าวได้ในทุกพื้นที่ เช่นเดียวกับในเขตชลประทาน การบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนจะใช้น้ำฝนเพื่อการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ การระบายน้ำในเขื่อนจะเพื่อระบบนิเวศเท่านั้น และต้องการเก็บน้ำไว้ในอ่างเพื่อใช้ในฤดูแล้งหน้าให้มากที่สุด

ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่ไทยประสบภาวะฝนแล้ง กรมชลประทานได้ขุดลอกและปรับปรุงอ่างเก็บน้ำเอาไว้มาก จึงคาดว่าจะเก็บน้ำได้มากขึ้น จากปกติปริมาณน้ำจากฝนที่ตกลงมา 100% จะเก็บน้ำลงอ่างได้เพียง 60% เท่านั้นที่เหลือต้องปล่อยทิ้งตามลำน้ำธรรมชาติ

“การเตรียมการรับมือฤดูฝนปี 2563 นั้น ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ตรวจสอบอาคารชลประทานทุกแห่ง ให้สามารถใช้งานได้เต็มศักยภาพ รวมทั้งสำรวจสิ่งกีดขวางทาง และการกำจัดวัชพืชในแม่น้ำสายหลัก คู คลองต่างๆ การติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆเป็นไปตามเกณฑ์การเก็บกักที่วางไว้”

ส่วนการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งปี 2562/63 ที่สิ้นสุดไปแล้วเมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่าน สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก รวมทั้งแหล่งน้ำอื่นๆ ทั่วประเทศ(ณ 30 เม.ย. 63) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 35,590 ล้าน ลบ.ม. (46% ของความจุฯรวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 13,016 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 8,649 ล้านลบ.ม. (35% ของความจุอ่างฯรวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 1,953 ล้าน ลบ.ม.

ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2562/63 ทั้งประเทศ พบว่า ณ วันที่ 30 เม.ย. 2563 มีการใช้น้ำตลอดฤดูแล้งที่ผ่านมารวมทั้งสิ้นประมาณ 17,053 ล้านลบ.ม. (96% ของแผนฯ) (แผนวางไว้ 17,699 ล้านลบ.ม.) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา วางแผนจัดสรรน้ำไว้รวม 4,500 ล้านลบ.ม. โดยใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลักรวม 3,500 ล้านลบ.ม. อีกส่วนหนึ่งจะผันมาจากแม่กลอง 1,000 ล้านลบ.ม. ผลการใช้น้ำตลอดฤดูแล้งรวมทั้งสิ้น 4,595 ล้านลบ.ม. ถือได้ว่าการใช้น้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้งที่วางไว้ ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณเกษตรกรและประชาชนทุกภาคส่วนที่ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด ทำให้การใช้น้ำเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้อย่างเพียงพอ

สำหรับผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2562/63 ทั้งประเทศ มีการเพาะปลูกรวมทั้งสิ้น 4.75 ล้านไร่ (แผนวางไว้ 2.83 ล้านไร่) แยกเป็นข้าวนาปรัง 4.21 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.54 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่มีแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอที่จะสนับสนุน แต่จากการสำรวจพบว่ามีการทำนาปรังประมาณ 1.98 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 1.90 ล้านไร่ ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ของตนเองทำการเพาะปลูก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน