นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยระหว่างลงพื้นที่เยี่ยมชมสินค้าและแหล่งผลิตสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) ใน จ.สกลนคร ว่า จ.สกลนครมีสินค้าจีไอรวม 5 ชนิด ถือเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีสินค้าจีไอมากที่สุด ประกอบด้วยข้าวฮางหอมทองสกลทวาปี เป็นข้าวกล้องที่ได้จากการฮางข้าวในระยะเป็นน้ำนม ทำให้มีความหอม เมล็ดข้าวไม่แตกหักจมูกข้าวไม่หลุด มีรำข้าว เส้นใยอาหาร และวิตามินยังคงอยู่ในเมล็ดข้าว

ผ้าครามธรรมชาติสกลนคร เป็นผ้าฝ้ายที่ผ่านกระบวนการย้อมครามธรรมชาติตามภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำให้ได้สีฟ้าอ่อนถึงสีน้ำเงินเข้ม เป็นมันวาว สีไม่ตก มีกลิ่นเฉพาะตัว

หมากเม่าสกลนคร และน้ำหมากเม่าสกลนคร เป็นผลไม้และน้ำผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่หลากหลาย โดยผลมะเม่าสุกจะมีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายหลายชนิด โดยเฉพาะสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ที่ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันมะเร็ง ช่วยขจัดสารพิษออกจากร่างกาย และยังช่วยชะลอความแก่ชรา

เนื้อโคขุนโพนยางคำ เป็นโคเนื้อลูกผสมระหว่างโคสายพันธุ์ยุโรปกับโคสายพันธุ์พื้นเมือง มีเนื้อมีสีแดงสดใส มีไขมันแทรกในเนื้อ เนื้อนุ่ม ไม่มีกลิ่นสาบและมีรสชาติดี ซึ่งมีระดับคะแนนไขมันแทรกที่ 3.5 ขึ้นไปตามมาตรฐานเนื้อ โดยมีมูลค่ารวมกว่า 908 ล้านบาท โดยเนื้อโพยางคำมีมูลค่าสูงสุด 564 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากการประชาสัมพันธ์สินค้า GI ให้เป็นที่รู้จัก และส่งเสริมให้เกิดการขึ้นทะเบียน GI แล้ว กรมยังสนับสนุนให้มีการจัดทำระบบมาตรฐานสินค้า GI เพื่อควบคุมคุณภาพสินค้าให้ตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งผลิตได้ ทั้งยังผลักดันสินค้าให้มีมาตรฐานเพิ่มขึ้น เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ และวางแผนเจาะตลาดสินค้า GI โดยเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market)

นางมาลัย จงเจริญ นักวิชาการ สหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กปร. กลาง โพนยางคำ จำกัด กล่าวว่า หากเนื้อโคโพนยางคำได้รับการจดทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือจีไอ ของ จ.สกลนครแล้ว จะทำให้สินค้าได้รับการคุ้มครอง เพราะปัจจุบันมีผู้ประกอบการใช้ “โพนยางคำ” ในการอ้างอิงขายเนื้อวัวทั่วไป แต่คุณภาพของเนื้อกลับไม่ได้คุณภาพและทำให้เกิดการปลอมปน ทำให้เนื้อโพนยางคำที่ขายตามท้องตลาดมีคุณภาพไม่ตรงตามมาตรฐาน ขณะที่หากได้รับการขึ้นทะเบียนจีไอแล้วและมีการให้ตราสัญลักษณ์จีไอ จะเป็นการรับรองและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคถึงคุณภาพเนื้อโพนยางคำที่มีคุณภาพที่ดี รวมทั้งยังทำให้ผู้ประกอบการและผู้เลี้ยงสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้า และรายได้ให้เพิ่มขึ้นด้วย

นอกจากนี้ จะทำให้สหกรณ์ฯ และผู้เลี้ยงที่ได้มาตรฐาน สามารถส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนได้อีกด้วย ซึ่งจะเริ่มส่งออกไปยัง สปป. ลาวก่อนขายไปยัง เวียดนาม และจีน เนื่องจาก สกลนคร มีทำเลที่ตั้งอยู่ใหล้กับ สปป. ลาว ซึ่งน่าจะทำให้มูลค่าตลาดของเนื้อโพนยางคำเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน หากได้รับการขึ้นทะเบียน แต่ทั้งนี้จะเน้นการผลิตเนื้อวัวโพนยางคำจะเน้นสำหรับความต้องการในประเทศก่อน และส่วนที่เหลือจะส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าราคาจะสูงกว่าในประเทศเป็นเท่าตัว

ทั้งนี้ ความต้องการปริมาณ เนื้อโพนยางคำ ในประเทศ มีมากถึง 13,000 ตัวต่อปี แต่สามารถผลิตได้เพียง 8,000 ตัวต่อปี ดังนั้นหากได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าจีไอ ก็จะทำให้การผลิตเนื้อโพนยางคำเพิ่มปริมาณเป็น 10,000 ตัวต่อปีได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน