นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 ตามที่กระทรวงการคลังเสนองบประมาณ 1,841.10 ล้านบาท คุ้มครองภัยธรรมชาติที่จะเกิดกับนาข้าว 6 ชนิดคือ ฝนตกหนัก แล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุใต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ และ ไฟไหม้

ใช้เงินจากงบคงเหลือโครงการปี 2559 วงเงิน 203.95 ล้านบาท ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทดลองจ่ายแทนรัฐบาล และรัฐบาลจะชดเชยต้นทุนเงินให้ในอัตราดอกเบี้นเงินฝาก 6 เดือน ประเภทบุคคลธรรมดา 4 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ บวก 1% วงเงิน 1,637.15 ล้านบาท

โครงการมีเป้าหมายครอบคลุมพื้นที่นา 25-30 ล้านไร่ ผู้เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ มีเงื่อนไขต้องเป็นลูกค้า ธ.ก.ส. เท่านั้น เบี้ยประกันรวม 97.37 บาท/ไร่ ถูกกว่าเบี้ยประกันปีก่อน 10% จากเบี้ยประกันปีก่อน 107.428 บาท/ไร่ เบี้ยประกันชาวนาไม่ต้องจ่ายเอง เพราะรัฐบาลอุดหนุน 61.37 บาท/ไร่ และ ธ.ก.ส.อุดหนุน 36 บาท/ไร่ วงเงินสินไหมกรณีประสบภัย 1,260 บาท/ไร่ สูงกว่าปีก่อน 13.4% ระยะเวลาขายประกัน เริ่มจากฤดูกาลเพาะปลูก – 31 ส.ค. 2560 ภาคใต้ขยายเวลาขายประกัน ถึง 15 ธ.ค. 2560

“สมาคมประกันวินาศภัยไทย ยังเปิดช่องไว้สำหรับชาวนาในพื้นที่เสี่ยงภัยสูง พื้นที่สีแดง ที่เกิดภัยพิบัติซ้ำซากทั้งน้ำท่วม ฝนแล้ง ที่ไม่ได้เป็นลูกค้าธ.ก.ส. อาทิ บางระกำ ลุ่มเจ้าพระยา อยุธยา ฯลฯ สามารถที่เข้าร่วมโครงการ แต่ขอจำกัดพื้นที่การรับประกันไม่เกิน 8 แสนไร่”

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ครม. สั่งให้กระทรวงการคลังไปศึกษาการจัดตั้งกองทุนขึ้นมา บริหารความเสี่ยงจากภัยพิบัติต่อพืชผลการเกษตร หลังจากปี 2559 การประกันภัยข้าวนาปี 2559 ปรากฏว่าบริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมกรณีข้าวประสบภัยพิบัติวงเงิน 597 ล้านบาท มีพื้นที่นาข้าวเสียหายจากภัยพิบัติ 537,353.735 ไร่ ครอบคลุมชาวนาจำนวน 79,715 ราย เบี้ยประกันที่จ่ายให้บริษัทประกัน 2920.99 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทประกันภัยได้รับส่วนต่างระหว่าง ค่าสินไหม และเบี้ยประกันจำนวนไม่น้อย

“ที่ประชุมมีความเห็นว่า ส่วนต่างค่าชดเชย กับค่าสินไหม มีจำนวนมาก รัฐบาลควรจัดตั้งกองทุนเพื่อบริหารความเสี่ยงภัยพิบัติธรรมชาติ เพราะในแต่ละปีภาครัฐต้องช่วยเหลือกรณีชาวนาประสบภัยพิบัติประมาณ 4,000 ล้านบาท หากจัดตั้งกองทุน เงินส่วนต่างในปีที่ไม่เกิดภัยพิบัติ กองทุนสามารถนำไปบริหารจัดการและสะสม ไว้ในปีที่เกิดภัยพิบัติใหญ่ ซึ่งน่าจะทำให้รัฐบาลใช้งบประมาณในการจ่ายเบี้ยประกันในแต่ละปีให้กับชาวนาน้อยลง และนอกจากการให้ศึกษาเรื่องของกองทุนเพื่อบริหารความเสี่ยงแล้ว กระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตรฯ ยังต้องนำเรื่องการประกันภัยพืชผลด้านการเกษตร ไปศึกษาเพื่อขยายผลไปยังพืชเศรษฐกิจ อื่น อาทิ อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน