นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ พีพีพี เห็นชอบในหลักการให้เอกชนร่วมลงทุนพีพีพี ฟาสต์แทร็ก จากโครงการที่เหลือ 2 โครงการ คือ โครงการทางหลวงพิเศษสายบางปะอิน-นครราชสีมา มูลค่าลงทุน 85,970 ล้านบาท และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี มูลค่าเงินลงทุนรวม 56,567 ล้านบาท โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนออกแบบ ลงทุนในงานก่อสร้างงานระบบ และเป็นผู้ดำเนินงานและบำรุงรักษา และรัฐเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและรายได้ค่าธรรมเนียมค่าผ่านทางทั้งหมด

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังเสนอโครงการลงทุนใหม่อีก 6 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 6 แสนล้านบาท ที่จะดำเนินการในปีนี้ และปีหน้า โดยจะให้พิจารณาถึงการสร้างความสมดุลในกรุงเทพฯ และกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคด้วย ซึ่งต้องการให้ขยายโครงการเข้าร่วมพีพีพี ฟาสต์แทร็กไปยังต่างจังหวัดมากขึ้นในปีหน้า โดยสั่งการกระทรวงคมนาคมไปจำทำแผนงาน และระยะเวลาให้ชัดเจน

ขณะเดียวกัน มีความต้องการเพิ่มบทบาทให้กรมธนารักษ์มากขึ้น โดยการนำที่ราชพัสดุมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนคนไทย ซึ่งอาจไปร่วมมือกับการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เพื่อดึงเอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อยทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดมากขึ้น ซึ่งหากมีเอกชนสนใจสามารถนำโครงการดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการพีพีพี ได้ด้วย

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า โครงการลงทุน 6 โครงการใหม่ที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ประกอบด้วย 1. โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-วงแหวนกาญจนาภิเษก ประมาณการมูลค่าเงินลงทุน 128,235 ล้านบาท 2. โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันตก และช่วงตะวันออก ประมาณการมูลค่าเงินลงทุน 220,618 ล้านบาท 3.โครงการรถไฟฟ้าสายภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ประมาณการมูลค่าเงินลงทุน 31,055 ล้านบาท

ขณะที่โครงการ 4. โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของจังหวัดเชียงใหม่ ประมาณการมูลค่าเงินลงทุนอยู่ระหว่างทำการศึกษา 5.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครปฐม-ชะอำ ประมาณการมูลค่าเงินลงทุน 80,600 ล้านบาท 6.โครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-ระยอง ประมาณการมูลค่าเงินลงทุน 152,448 ล้านบาท โดยมีมูลค่าเงินลงทุนรวมประมาณ 613,000 ล้านบาท (ไม่รวมโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของจ.เชียงใหม่)

ทั้งนี้ 6 โครงการใหม่จะมีทั้งลงทุนในปีนี้ และปีหน้า โดยคาดว่ามี 2 โครงการที่สามารถเข้าร่วมพีพีพีได้ 2 โครงการ คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-วงแหวนกาญจนาภิเษก และโครงการทางหลวงพิเศษนครปฐม-ชะอำ โดยคณะกรรมการพีพีพี ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมปรับปรุงแผนให้สอดคล้องกับระยะเวลาดำเนินการจริง และให้พิจารณาเพิ่มเติมโครงการท่าอากาศยานในส่วนภูมิภาคหากมีความพร้อมให้ผลักดันเข้าสู่กระบวนการพีพีพี ฟาสต์แทร็กได้

ส่วนโครงการที่อยู่อาศัยนั้น เนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการให้คนมีรายได้น้อยมีบ้าน จึงอยากให้กรมธนารักษ์ ร่วมกับกคช. และ ธอส. เพื่อทำโครงการขึ้นมา โดยให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม และให้หารือกับผู้ประกอบการในต่างจังหวัดด้วย ซึ่งหากเป็นไปได้อยากให้เห็นเป็นรูปธรรมในปีนี้ หรือในปีหน้าทันที

ด้านนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า โครงการที่อยู่อาศัย เป็นนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง คงไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากบ้านประชารัฐ ซึ่งในกลุ่มบ้านต่างจังหวัด หากโครงการเข้าข่ายในรูปแบบการร่วมทุน สามารถเข้าโครงการพีพีพี ได้ โดยโครงการต้นแบบจะทำในเขตกรุงเทพฯ ก่อน ซึ่งในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ จะมีการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางของโครงการ เบื้องต้นจะสร้างให้เป็นสังคมที่อยู่อาศัย ไม่ได้แค่อยู่อาศัยอย่างเดียว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน