นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สัปดาห์หน้ากระทรวงเกษตรฯ จะเสนอโครงการบริหารจัดการน้ำวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท เข้าสู่การพิจารณาในโครงการฟื้นฟูภาคเกษตรจากผลกระทบการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้วงเงิน 4 แสนล้านบาท ซึ่งแผนฟื้นฟูแหล่งน้ำที่จะดำเนินการเร่งด่วน จะเป็นโครงการขนาดเล็ก ไม่มีโครงการขนาดใหญ่ เพราะต้องเร่งดำเนินการเลยหลัง คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแผนดำเนินการ

ทั้งนี้ โครงการขนาดเล็กของกรมชลประทาน จะเน้นโครงการขนาดเล็กมีการขุดลอกคูคลอง เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำ และในแต่ละโครงการจะมีการจ้างงาน หลังจากผลกระทบโควิด-19 ส่งผลให้มีคนตกงานและกลับคืนสู่ภาคเกษตรมากขึ้น เมื่อมีการขุดลอกคูคลอง ก็จะมีการตรวจสอบว่า โครงการไหนสามารถจ้างแรงงานคน เข้าไปดำเนินการแทนเครื่องจักรได้ ก็จะใช้คนดำเนินการ โดยแต่ละโครงการที่เสนอมา ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการที่ส่งมาจากชุมชน เป็นโครงการที่แต่ละชุมชนต้องการ ใช้ประโยชน์ และสามารถจ้างงานได้

“ที่ผ่านมาหน่วยงานที่สามารถจ้างงานได้ ของกระทรวงเกษตรฯ มีเพียงกรมชลประทาน ดังนั้นในส่วนของงบประมาณสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากเงินกู้ของรัฐบาลจำนวน 4 แสนล้านบาท จะพยายามให้มีการจ้างแรงงานที่ตกงาน จากผลกระทบโควิด-19 เข้ามาทำงานให้ได้มากที่สุด จากงบประมาณ 2563 กรมชลประทานสามารถจ้างงานได้แล้วเกือบ 5 หมื่นคน และใน 3 หมื่นล้านบาท ของโครงการเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ขุดลอก คูคลอง นี้น่าจะเพิ่มจำนวนการจ้างงานได้ไม่น้อย”

รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานด้านการผลิตทํางการเกษตร 33,700.4329 ล้านบาท แบ่งเป็น การพัฒนาโครงสร้างด้านแหล่งน้ำชลประทาน 27,917.4814 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 19 แห่ง 14,820.9915 ล้านบาท โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำชลประทานและแหล่งน้ำธรรมชาติ 249 แห่ง 4,676.4870 ล้านบาท

โครงการซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลประทานที่เสียหายเนื่องจากอุทกภัย 575 แห่ง 1,148.2729 ล้านบาท, โครงการปรับปรุงและติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดพฤติกรรมเขื่อน 41 แห่ง 319.27 ล้านบาท โครงการจัดหาเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง 991 รายการ 6,952.4600 ล้านบาท และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำระดับชุมชน 2,250.07 ล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน