นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรขอความร่วมมือสำนักงานตรวจสอบบัญชีทั่วประเทศที่ดูแลผู้ประกอบการเสียภาษีกว่า 3 แสนราย และส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้ดำเนินการทำบัญชีเสียภาษีให้สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะที่ผ่านมากรมสรรพากรให้เวลาปรับตัวเรื่องการทำบัญชีเดียวมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว หลังจากนี้หากดำเนินการเสียภาษีไม่ถูกต้อง กรมสรรพากรจะบังคับใช้กฎหมายเอาผิดทางอาญากับผู้เสียภาษีและผู้ให้การสนับสนุนต่อไป

นายประสงค์ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2560 กรมสรรพากรจะดำเนินคดีอาญากับผู้ประกอบการที่ใช้ใบกำกับภาษีปลอม และหากพบว่าสำนักงานบัญชีให้ความร่วมมือกระทำผิด เช่น หาใบกำกับภาษีปลอมให้ ก็จะดำเนินคดีอาญาทันทีโดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ต่อใบกำกับภาษีปลอม 1 ใบ หากใช้ใบกำกับภาษีปลอม 10 ใบ ก็รวมเป็น 70 ปี แต่กฎหมายให้จำคุกรวมแล้วไม่เกิน 20 ปี

“ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา กรมสรรพากรมีระเบียบปฏิบัติ ว่า ผู้ใช้ใบกำกับภาษีปลอมไม่เกิน 75% ของใบกำกับภาษีทั้งหมด และมาชำระภาษีให้ครบ จะไม่ถูกดำเนินคดีอาญา ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. นี้ ผู้ประกอบการที่ใช้ใบกำกับภาษีปลอมใบเดียวก็จะโดนดำเนินคดีอาญาทันที โดยมีเวลาอีก 2 เดือน ที่ให้ผู้ประกอบที่ทำผิดทำให้ถูกต้อง”นายประสงค์ กล่าว

นายประสงค์ กล่าวว่า กระแสโลกเรื่องดำเนินคดีอาญากับผู้หลีกเลี่ยงภาษีมีมากขึ้น เช่น นักฟุตบอลดังในยุโรปหลายคนโดนดำเนินคดีอาญาจำคุกเพราะหลีกเลี่ยงจ่ายภาษี ซึ่งกรมสรรพากรจึงต้องดำเนินการกับผู้เลี่ยงภาษีจริงจังมากขึ้นตามกระแสที่เป็นอยู่ขณะนี้ เพื่อทำให้การเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ กรมสรรพากรจะดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบการเสียภาษีของผู้ประกอบการ ซึ่งจะเชิญผู้สอบบัญชีมาร่วมชี้แจงด้วย โดยการออกตรวจจะมีการแจ้งว่ากรมสรรพากรจะตรวจเรื่องไหนบ้างที่เห็นเป็นความเสี่ยงการเสียภาษีของผู้ประกอบการรายนั้น เช่น ความเสี่ยงการลงรายได้ไม่ครบ ความเสี่ยงด้านรายจ่ายที่มีมากเกินความเป็นจริง ความเสี่ยงการใช้ใบกำกับภาษีปลอม และความเสี่ยงการลงบัญชีใช้แต่เงินสดไม่มีเงินฝากธนาคาร เพื่อให้ผู้ประกอบการและสำนักงานบัญชีที่รับผิดชอบปิดความเสี่ยงดังกล่าว จะได้ไม่มีความผิดเสียค่าปรับเงินเพิ่มในภายหลัง

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า สำนักงานบัญชีมีส่วนสำคัญในการทำให้ผู้ประกอบการเสียภาษีให้ถูกต้อง เพราะในอนาคตจะต้องดูแลผู้เสียภาษีมากขึ้น จากมาตรการของกรมสรรพากรที่ให้ผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาแปลงสภาพเป็นนิติบุคคล โดยจะดำเนินการได้ถึง 31 ธ.ค. 2560 นี้

นอกจากนี้ การทำบัญชีเดียวเสียภาษีให้ถูกต้องยังมีความสำคัญกับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพราะในปี 2562 การกู้เงินจากสถาบันการเงินต้องใช้งบการเงินที่ยื่นเสียภาษีกับกรมสรรพากรเท่านั้น หากยังมีหลายบัญชีเสียภาษีไม่ถูกต้องก็จะทำให้มีปัญหากู้เงินเพื่อดำเนินธุรกิจไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ในส่วนการดำเนินคดีกับผู้เสียภาษีโดยส่งให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ดำเนินการเอาผิดทางอาญาและยึดทรัพย์ กรมสรรพากรยังไม่ได้ดำเนินการ เพราะการกระทำความผิดต้องเข้าองค์ประกอบการ เช่น มีการเลี่ยงภาษีที่ทำเป็นขบวนการ มีการเสียภาษีขาดเกิน 10 ล้านบาท หรือ ขอคืนภาษีเท็จเกิน 2 ล้านบาท เป็นต้น ซึ่งกรมสรรพากรต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาก่อนส่งผู้กระทำผิดเลี่ยงภาษีไปให้ ปปง. ดำเนินการเอาผิด

นายประสงค์ กล่าวว่า การเก็บภาษีของกรมสรรพากรเดือน มิ.ย. 2560 ที่ผ่านยังสูงกว่าช่างเดียวกันปีที่ผ่านมา แต่ยังต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อยประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยการเก็บภาษีของกรมสรรพากรได้สูงกว่าเป้าหมาย แต่ภาษีที่หน่วยงานอื่นเก็บแทนกรมสรรพากรต่ำกว่าเป้าหมาย ส่งผลให้การเก็บภาษีในรอบ 9 เดือน ของปีงบประมาณ 2560 ยังต่ำกว่าเป้าหมาย 4 หมื่นกว่าล้าน ซึ่งกรมสรรพากรเร่งเพิ่มประสิทธิภาพเก็บภาษีทุกทางเพื่อให้การเก็บภาษีใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน