นายพิชิต อัตราทิตย์ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า กรมขนส่งทางบก (ขบ.) เสนอรายละเอียดการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ยกเลิกสัญญาสัมปทานรถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) ในเขตกรุงเทพฯ หรือหมวด 1, รถเมล์หรือรถสองแถวในซอยเขตกรุงเทพฯ หรือหมวด 4 และรถตู้โดยสารสาธารณะเกือบ 1,000 สัญญาให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาเรียบร้อยแล้ว

ตอนนี้กระทรวงอยู่ระหว่างแก้ไขรายละเอียดและข้อความให้เหมาะสม คาดว่าจะเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาในเร็วๆ และสามารถออกคำสั่งมาตรา 44 ได้ภายในปีนี้

โดยก่อนหน้านี้ ขบ. เคยเสนอรายละเอียดการใช้อำนาจมาตรา 44 ให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายรัฐมนตรี พิจารณาแล้ว แต่นายวิษณุสั่งให้แก้ไขรายละเอียดและนำกลับมาเสนอใหม่ ซึ่งต้องยอมรับว่าเรื่องนี้มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

ด้านกระทรวงคมนาคมต้องพิจารณาวิธีการยกเลิกสัมปทานเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างสัมปทานเก่าและสัมปทานใหม่ โดยตน และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม หารือถึงมาตรการป้องกันกระทบต่อภาคประชาชนแล้ว

“มีความจำเป็นทางกฎหมาย เพราะถ้าไม่ใช้มาตรา 44 มันจะมีข้อผูกพันทางกฎหมายอยู่ระหว่าง ขสมก. และรถร่วมฯ แล้วมันจะเป็นอุปสรรคภายหลัง ส่งผลให้การปฏิรูปเส้นทางไม่ได้ แต่สำคัญที่สุดคือเมื่อใช้มาตรา 44 แล้ว ประชาชนต้องไม่เดือดร้อน ประชาชนที่ใช้เส้นทางเดิมจะต้องเดินทางได้และการเปลี่ยนผ่านจากเส้นทางเดินรถเดิมไปเส้นทางใหม่ต้องเป็นไปอย่างราบรื่น” นายพิชิตกล่าว

นอกจากนี้ สั่งการให้ ขบ. จัดทำเส้นทางเดินรถโดยสารกลับมาเสนอใหม่ เนื่องจากสัมปทานเดินรถ 269 เส้นทางเดิม ไม่สอดคล้องนโยบายการให้รถเมล์เป็นขนส่งทางระบบรอง (Feeder) เชื่อมต่อกับระบบราง และยังไม่ได้คำนึงถึงโครงการรถไฟฟ้าที่จะแล้วเสร็จเพิ่มขึ้นในอนาคต

ขณะเดียวกันได้ให้นโยบายว่า การออกใบอนุญาตเดินรถรอบใหม่จะต้องมีความยืดหยุ่นในแง่ระยะเวลาและเส้นทาง เพราะการเดินทางและตั้งถิ่นฐานของประชาชนจะต้องเปลี่ยนแปลงอีกครั้งเมื่อโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ แล้วเสร็จ โดยสัมปทานรอบใหม่จะกำหนดระยะเวลากี่ปีก็ได้ แต่ไม่เกิน 7 ปี จากเดิมกำหนดตายตัวไว้อยู่ที่ 7 ปี ด้านเส้นทางก็ต้องปรับเปลี่ยนได้เพื่อตองสนองความต้องการของประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน