นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดผลิตรถยนต์ในเดือนมิ.ย. 2560 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 2.46% อยู่ที่ 175,443 คัน เนื่องจากยอดผลิตเพื่อส่งออกลดลง 6.11% อยู่ที่ 97,666 คัน โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์นั่งเพื่อส่งออกลดลงเป็นหลัก 19.59% อยู่ที่ 36,891 คัน สอดคล้องกับยอดส่งออกรถยนต์ที่ลดลง 13.02% อยู่ที่ 93,086 คัน ทำให้ยอดส่งออกรถยนต์ 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.) ลดลง 9.82% อยู่ที่ 536,406 คัน โดยเป็นการส่งออกที่ลดลงเกือบทุกตลาด

“สัปดาห์หน้า ส.อ.ท. จะนำสถิติการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงปัจจัยที่มีผลต่อแนวโน้มตลาดส่งออกรถยนต์ ประกอบการทบทวนปรับลดประมาณการยอดผลิตรถยนต์ปีนี้ใหม่อย่างเป็นทางการอีกครั้ง จากปัจจุบันคาดไว้อยู่ที่ 2 ล้านคน อาจลงมาอยู่ที่ 1.9 ล้านคัน จากการส่งออกรถยนต์ปีนี้ที่คาดว่าจะทำได้ 1.1 ล้านคัน ต่ำกว่าเป้าหมายปัจจุบันคาดไว้ที่ 1.2 ล้านคัน”นายสุรพงษ์ กล่าว

ขณะที่ยอดผลิตรถยนต์เพื่อจำหน่ายในประเทศยังคงขยายตัวต่อเนื่องเดือนมิ.ย.เพิ่มขึ้น 2.53% อยู่ที่ 77,777 คัน ทำให้ยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศรวม 6 เดือนเพิ่มขึ้น 14.08% อยู่ที่ 192,310 คัน ซึ่งเป็นผลจากยอดขายในประเทศเดือนเดียวกันนี้เพิ่มขึ้น 5.7% อยู่ที่ 69,794 คัน ผลักดันยอดขายในประเทศ 6 เดือนเพิ่มขึ้น 11.2% อยู่ที่ 409,976 คัน

ทั้งนี้ เนื่องจากการทยอยแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่หลายรุ่นตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา ประกอบกับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และการลงทุนของภาครัฐยังเป็นปัจจัยที่ช่วยให้ตลาดดีขึ้น ส.อ.ท.จึงมั่นใจว่าปีนี้ยอดขายในประเทศจะเป็นไปตามคาดการณ์ไว้ 8 แสนคัน

ขณะที่นายเจน นำชัยศิริ ประธานส.อ.ท. เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย.2560 อยู่ที่ระดับ 84.7 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สามจากเดือนก่อนอยู่ที่ 85.5 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือนเทียบกับเดือนก.ย.2559 อยู่ที่ 84.8

เนื่องจากผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อกำลังซื้อภายในประเทศ จากการระมัดระวังการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน ประกอบกับอยู่ในช่วงฤดูฝนทำให้การดำเนินกิจกรรมของภาคธุรกิจชะลอตัวลง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อการบังคับใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ทำให้ภาคเอกชนเกรงว่าจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)

นอกจากนี้ ภาคเอกชนติดตามความเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าอย่างใกล้ชิด หลังสหรัฐประกาศตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวออกมาไม่ดีนัก ซึ่งหากในระยะยาวส่งผลให้เกิดภาวะเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้ามากดดันเงินบาทแข็งค่ามากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกสินค้า ก็เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะมีเครื่องมือต่างๆ ดูแล

“หากเงินบาทแข็งค่าในระยะสั้นเชื่อว่าผู้ประกอบการยังสามารถดูแลไม่ให้กระทบต่อความสามารถทางการแข่งขัน และส.อ.ท.ยังคงติดตามความเคลื่อนไหวของเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิดเพื่อคอยส่งสัญญาณไปยังธปท.ที่มีเครื่องมือและมาตรการพร้อมออกมาดูแลอยู่แล้ว”นายเจน กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน