นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ดปตท. วันที่ 21 ก.ค.นี้ จะพิจารณาให้ ปตท. ดำเนินการติดตั้งการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนที่พักอาศัยและอาคาร (โซลาร์ รูฟท็อป) ในสถานีบริการน้ำมันปตท. และธุรกิจอื่นในปั๊มน้ำมันปตท. เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง ช่วยลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า

“ขณะนี้แนวโน้มการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ รูฟท็อปกำลังมาแรง เพราะต้นทุนติดตั้งมีราคาถูกลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับ 3-5 ปีที่ผ่านมา โดยต้นทุนติดตั้ง 1 กิโลวัตต์ไฟฟ้า มีค่าใช้จ่ายประมาณ 50,000 บาทเท่านั้น ถือว่าคุ้มค่าการลงทุนและไม่จำเป็นต้องจำหน่ายให้กับ 3 การไฟฟ้าแต่อย่างใด ซึ่งแผนงานดังกล่าวอาจเป็นต้นแบบให้เอกชน โรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงประชาชนทั่วไป”

ทั้งนี้ อนาคตภายในไม่เกิน 10-15 ปีข้างหน้า หากประชาชนทยอยติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป มากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อรายได้ทั้ง 3 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ซึ่งเป็นโจทย์ให้ต้องหาวิธีดำเนินกิจการในระยะยาวต่อไป เพราะประเทศไทยจะมีการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง

สำหรับกรณีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีนโยบายจัดเก็บค่าสำรองไฟฟ้า (แบล็กอัพ เรต) กับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าประเภทโซลาร์ รูฟท็อป เป็นการเอาเปรียบผู้ใช้ไฟฟ้าอื่นๆ เพราะคนใช้โซลาร์ รูปท็อป ที่ยังไม่มีความเสถียรเรื่องพลังงานไฟฟ้า จึงยังมีความต้องการใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหลัก ทำให้รัฐบาลต้องสำรองไฟฟ้าไว้ให้ผู้ใช้กลุ่มนี้ กลายเป็นการลงทุนสองทาง เรื่องนี้ตนได้เสนอให้ กกพ. ไปปรับเปลี่ยนโครงสร้างค่าไฟฟ้าของประเทศไทยใหม่ทั้งหมด หลังจากไม่ได้ปรับโครงสร้างมานานกว่า 10 ปี โดยอาจเปลี่ยนช่วงการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) จากช่วงกลางวันมาเป็นกลางคืนแทน เป็นต้น เพื่อถัวเฉลี่ยต้นทุนสำรองไฟฟ้า เนื่องจากคนที่ติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป ก็เหมือนคนที่ช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของภาครัฐอีกทางหนึ่งเช่นกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน