นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลเน้นการปฏิรูปโดยมองอนาคตไปข้างหน้าในระยะยาวให้มีความมั่นคง เพราะโลกกำลังเปลี่ยนแปลงและเชื่อมโยงกันมากขึ้น ทำให้ความสามารถทางการแข่งขันเป็นสิ่งสำคัญของทุกองค์กร เช่น การปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งด้านคมนาคม, ปฏิรูปด้านการเงิน หรือพัฒนาระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) และแก้ไขปัญหาข้อติดขัดทางธุรกิจ เพื่อให้การจัดอันดับความยากง่ายทางธุรกิจของไทย (Ease of doing business) ที่ธนาคารโลกประเมินไทยมีอันดับที่ดีขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่อันดับ 46 คาดว่าในอีก 2 ปีข้างหน้าจะเหนืออันดับ 40 และเชื่อว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นตาม

ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจไทยยังมีการเจริญเติบโตได้ไม่เต็มศักยภาพ เนื่องจากภาคเอกชนยังไม่ลงทุนเท่าที่ควร มีเพียงบริษัทใหญ่ที่เริ่มมีสัญญาณการลงทุนบางแล้ว ซึ่งภาคเอกชนเป็นส่วนสำคัญมากในการเจริญเติบโตของประเทศ ดังนั้นจึงต้องทำให้เอกชนเห็นว่าต้องเป็นผู้นำการลงทุนเพื่อให้เศรษฐกิจไทยเจริญเติบโต

“เศรษฐกิจไทยปัจจุบันโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี มีความมั่นคง เงินทุนสำรองระหว่างประเทศแข็งแกร่ง ส่วนภาระหนี้สาธารณะปัจจุบันอยู่ที่ 42% ถึงแม้จะมีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากแต่หนี้สาธารณะก็ยังอยู่ที่ระดับไม่เกิน 49% ซึ่งไม่เกินกรอบเพดานหนี้สาธารณะที่ 60%” นายอภิศักดิ์ กล่าว

นายอภิศักดิ์ กล่าวถึงเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ว่า จะไม่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจในภาพรวม เนื่องจากมองว่าภาคธุรกิจขนาดใหญ่สามารถรองรับกับความเสี่ยงและความผันผวนที่เกิดขึ้นได้ ขณะที่เอสเอ็มอี หรือ ธุรกิจขนาดเล็ก อาจได้รับผลกระทบ ซึ่งขณะนี้ภาครัฐจะเร่งหาแนวทางร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงการทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มมากขึ้น

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ขณะนี้มีการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงินระยะสั้น (ตั๋วบีอี) กว่า 4 แสนล้านบาทนั้น มองว่า กลุ่มลงทุนในตั๋วบีอีส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งมีความสามารถในการวิเคราะห์โครงสร้างบริษัทที่ออกตั๋วบีอีอยู่แล้ว แต่บีอีไม่มีการค้ำประกันความเสี่ยง ดังนั้นจึงต้องวิเคราะห์ความเสี่ยงของบริษัทนั้นๆ เช่นเดียวกับกรณีสินเชื่อของสถาบันการเงิน ซึ่งแต่ละสถาบันการเงินจะมีวิธีพิจารณาสินเชื่อ เพื่อไม่ให้เกิดเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง กล่าวว่า เชื่อว่าการลงทุนภาคเอกชนจะค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลได้พยายามเร่งการลงทุนในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อาทิ รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ และโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นต้น ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนให้เกิดความมั่นใจที่จะเดินหน้าลงทุนตามมา

อย่างไรก็ตาม เรื่องของเศรษฐกิจไม่ใช่อะไรที่จะมาทำระยะสั้นๆ แล้วจะเติบโตแบบก้าวกระโดด ทุกอย่างต้องใช้เวลาพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องการลงทุนภาคเอกชนที่เชื่อว่าหลังจากเริ่มมีความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้น ก็จะเริ่มลงทุนเพิ่มมากขึ้น และที่ผ่านมารัฐบาลเองก็ผลักดันและสนับสนุนอย่างเต็มที่ ผ่านมาตรการด้านภาษี และมาตรการอื่นๆ ซึ่งจะเป็นผลดีในระยะต่อๆ ไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน