นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า จากการประเมินของ สบน. คาดว่ารัฐบาลยังต้องทำงบประมาณแบบขาดดุลระดับสูงอีกหลายปี เพื่อดูแลเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้เต็มศักยภาพตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ 4-5% โดยในปีงบประมาณ 2560 ที่กำลังจะหมดลงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้ามีการตั้งงบประมาณขาดดุลสูงถึง 5.52 แสนล้านบาท เนื่องจากมีการทำงบประมาณกลางปีเพิ่มเติม 1.9 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้เพิ่ม 1.6 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ปีงบประมาณ 2561 ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็มีการขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท และในปีงบประมาณ 2562-2564 ทาง สบน. คาดการณ์ไว้ว่ารัฐบาลจะต้องทำงบประมาณแบบขาดดุลอยู่ปีละ 4.5-5 แสนล้านบาท เนื่องจากมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานอีกจำนวนมากที่รัฐบาลต้องดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการทำงบประมาณแบบขาดดุลจะอยู่ระดับสูง แต่การขาดดุลเมื่อเทียบกับจีดีพีของประเทศจะลดลง เพราะเศรษฐกิจของประเทศขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ การก่อหนี้จากการทำงบประมาณขาดดุลจำนวนมาก ไม่กระทบกับกรอบความยังยืนทางการคลังที่กำหนดว่าสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีต้องไม่เกิน 60% และภาระงบชำระหนี้ต่องบประมาณรายจ่ายไม่เกิน 15% โดยปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 6.34 ล้านล้านบาท หรือ 42.9% ของจีดีพี

ทั้งนี้ สบน. ได้ประเมินสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีในปีงบประมาณ 2560 จะอยู่ที่ 42.8% และจะปรับเพิ่มขึ้นปีละเล็กน้อย โดยในงบประมาณ 2564 คาดว่าสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีจะอยู่ที่ 46.6% ภายใต้สมติฐานการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐบาลทั้งหมดสามารถเบิกจ่ายได้ 80% ของงบประมาณที่ตั้งไว้ในแต่ละปี

นายสุวิชญ กล่าวว่า เศรษฐกิจของไทยขยายตัวได้ต่อเนื่องโดยในปี 2560 กระทรวงการคลังคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.6% และในปีต่อๆ ไป จะขยายเพิ่มขึ้นจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน นอกจากจะทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังช่วยทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้นไม่มากอีกด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน