นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและ แผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีที่รัฐบาลญี่ปุ่นเสนอให้ไทยขยายรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง จากเดิมจะสิ้นสุดที่ดอนเมือง เพื่อเชื่อมต่อ 3 สนามบินเข้าด้วยกัน คือ อู่ตะเภา สุวรรณภูมิ และดอนเมือง โดยขอให้ขยายต่อไปถึงอยุธยา เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) กับอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ว่า ขณะนี้รัฐบาลไทยไม่ได้ตอบรับข้อเสนอดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันโครงการได้ผ่านขั้นตอนการดำเนินการตามรูปแบบพีพีไปมากจนเกือบจะเสร็จสมบูรณ์แล้วคาดว่า รัฐบาลไทยน่าจะใช้วิธีเปิดประมูลแบบพีพีหรือเปิดให้เอกชนร่วมทุนตามระบบเดิม คาดว่าภายในปีนี้จะเปิดประมูลได้

ส่วนแนวเส้นทางคาดว่าจะไม่มีการปรับตามข้อเสนอญี่ปุ่น โดยจะยึดแนวเดิมคือตามแนวรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน รวมทั้งโครงการดังกล่าวยังถูกบรรจุอยู่ในโครงการฟาสต์แทร็ก ซึ่งรัฐบาลต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นเร่งด่วนเพื่อพัฒนาระบบขนส่งเชื่อมพื้นที่อีอีซี หากมีการปรับเส้นทางตามข้อเสนอญี่ปุ่นใหม่ทั้งหมดก็เท่ากับว่าต้องนับหนึ่งใหม่ อาจจะทำให้โครงการล่าช้าออกไปอีก

นอกจากนี้ ฝ่ายไทยยังเห็นว่ารัฐบาลญี่ปุ่นเองก็มีแผนที่จะดำเนินการรถไฟความเร็วสูง เส้นทาง กทม.-เชียงใหม่ อยู่แล้ว ซึ่งก็มีเส้นทางที่ผ่านจากอยุธยามาบางซื่ออยู่แล้ว

นายชัยวัฒน์กล่าวต่อถึงความคืบหน้าในการโอนหนี้สินและทรัพย์สินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และสายสีเขียวใต้ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถ ว่า ขณะนี้ กทม. ปฏิเสธที่จะจ่ายเงินภาระหนี้ งานก่อสร้างจำนวน 6 หมื่นล้านบาทให้รฟม. ซึ่งได้ใช้เงินลงทุนก่อนสร้างโครงการไปแล้ว โดย กทม. จะขอให้รฟม. ยกโครงการให้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ล่าสุด มีมติไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของกทม. โดยมองว่า กทม. จะต้องรับผิดชอบภาระหนี้สินดังกล่าว เสมือนกับต้องมีการลงทุน เพราะ กทม. เป็นผู้รับประโยชน์โดยตรงจากโครงการดังกล่าว

ดังนั้น คจร. จึงมีมติให้ อนุคจร. ไปหารือเพื่อกำหนดสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมของ กทม. เพื่อนำข้อยุติกลับมารายงานให้ คจร. รับทราบต่อไป อย่างไรก็ตาม หาก กทม. ยืนยันว่าไม่สามารถหาเงินมารับภาระหนี้หรือนำเงินมาลงทุนในโครงการดังกล่าวได้ ก็มีความเป็นไปได้ที่ รฟม. จะทำเรื่องเสนอ คจร. ขอนำโครงการดังกล่าวกลับมาบริหารเองตามเดิม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน