นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยผลการดำเนินงานรอบ 10 เดือน ช่วงเดือนต.ค. 2559 – ก.ค. 2560 ว่า ที่ผ่านมา สมอ. ได้กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ไปแล้ว 187 เรื่อง มั่นใจว่าภายในเดือนก.ย. ที่จะถึงนี้ หรือก่อนจะหมดปีงบประมาณ 60 จะสามารถกำหนดมาตรฐานได้เพิ่มอีก 200 เรื่อง เกินเป้าหมายที่ สมอ. กำหนดไว้ 302 เรื่อง โดยเบื้องต้นหลายเรื่องอยู่ในขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่

นอกจากนี้ สมอ. ดำเนินการตรวจสอบคุมเข้มร้านค้าอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังการผลิตและจำหน่ายสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน โดยช่วงเดือนต.ค. 2559 – มิ.ย. 2560 ดำเนินการยึดอายัดผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานมูลค่ารวม 1,512.38 ล้านบาท แบ่งเป็น 1. ผลิตภัณฑ์เหล็ก มูลค่า 1,383.68 ล้านบาท 2. ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า มูลค่า 117.44 ล้านบาท 3. ผลิตภัณฑ์ยานยนต์ มูลค่า 8.29 ล้านบาท 4. ผลิตภัณฑ์โภคภัณฑ์ มูลค่า 1.34 ล้านบาท และ 5. ผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้าง มูลค่า 802,000 บาท

นายพิสิฐ กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สมอ. ร่วมหารือกับทางสมาคม องค์กรภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเหล็กในประเทศไทย และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยมีการแจ้งเรื่องกับทางกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรถไฟในประเทศไทย เพื่อร้องขอให้ใช้เหล็กของผู้ประกอบการไทยในการสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เพื่อส่งเสริมให้ใช้วัสดุที่ผลิตได้ภายในประเทศตามนโยบายรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าโครงการดังกล่าวจะใช้เหล็กของประเทศใด ซึ่งทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับทางรัฐบาล แต่ สมอ. เตรียมความพร้อมที่จะสนับสนุนการใช้เหล็กของไทยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ หากสามารถที่จะแทรกเหล็กไทยเข้าไปในโครงการดังกล่าวได้ ก็มั่นใจว่าผู้ประกอบการในไทยจะมีศักยภาพพอในการผลิต ถึงจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตให้เป็นไปตามาตรฐานของจีนก็ตาม

“ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะใช้เหล็กของใคร แต่ถ้าหากแทรกของไทยเข้าไปได้ ผู้ประกอบการต้องมาขอมาตรฐานใหม่จาก สมอ. เนื่องจากเป็นคนละมาตรฐานกัน และนอกเหนือจากของเดิมที่เป็นมาตรฐานบังคับด้วย แต่ต้องยอมรับว่าประเทศจีนมีโรงงานถลุงเหล็กขนาดใหญ่หลายแห่ง ทำให้มีกำลังการผลิตที่เกินความต้องการไปมาก โดยปัจจุบันเกินอยู่ 300 ล้านตัน ซึ่งจีนต้องหาวิธีระบายสินค้าของตนเองเช่นกัน โดยอาจจะต้องอาศัยโครงการดังกล่าวด้วย”นายพิสิฐ กล่าว

สำหรับโครงการ ร้าน มอก. ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานเชิญชวน บริษัท ซี พี ออล จำกัด (มหาชน) หรือเซฟเว่น อีเลฟเว่น เข้าร่วมโครงการ โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนเร็วๆ นี้

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการสมัครเข้าร่วมโครงการเพิ่มเติมอีกจำนวน 42 ราย 54 สาขา ทั้งร้านค้าทั่วไป และร้านโมเดิร์นเทรด ซึ่งหากผ่านเกณฑ์ของ สมอ. ทั้งหมด จะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 50 ราย 488 สาขาทั่วประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคที่จะซื้อสินค้า โดยกระจายไปยังหลายพื้นที่ให้เข้าถึงทุกชมชน ไม่ใช่แค่ร้านค้าใหญ่ๆ เท่านั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน