นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงผลการประชุมร่วมระหว่างนายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม การรถไฟฯ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และตัวแทนกลุ่มชุมชน เพื่อหาทางออกกรณีชุมชนคัดค้านโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางจิระ ที่มีเส้นทางผ่านตัวเมือง ว่า ที่ประชุมมีมติรับข้อเสนอของทางจังหวัดที่ขอให้มีการปรับเส้นทางจากระดับดินเป็นทางยกระดับ เบื้องต้นรฟท. จะกลับไปศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากมีการปรับเป็นทางยกระดับ ทั้งในส่วนของระยะเวลาการดำเนินโครงการ และงบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างซึ่งจะเพิ่มขึ้น รวมถึงขั้นตอนการจัดทำอีไอเอ และการนำเสนอเรื่องให้สู่ครม.

ทั้งนี้ จะแบ่งการศึกษาผลกระทบเป็น 3 แนวทางเลือกคือ 1. ใช้เส้นทางระดับดินตามเดิม 2. ปรับเส้นทางเป็นยกระดับบางส่วนประมาร 6-7 กม. และ 3. ปรับเป็นเส้นทางยะระดับทั้งหมดระยะทางรวม 12-13 กม.

“รฟท. จะใช้เวลาศึกษาผลกระทบ 3 แนวทางประมาณ ประมาณ 1-2 สัปดาห์ จะได้ข้อสรุปเพื่อนำไปหารือกับจังหวัด จากนั้นก็จะนำผลกาหารือ ไปเสนอให้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม พิจารณาตัดสินใจว่าจะเลือกแนวทางไหนจึงจะเหมาะสมที่สุด ภายใน 2-3 สัปดาห์ หรือก่อนที่รฟท. จะเปิดให้ผู้เข้าร่วมการประมูลในโครงการดังกล่าวยื่นซองเสนอราคาในวันที่ 1 ก.ย. ตามกำหนดเดิม”

นายอานนท์กล่าวยอมรับว่า หากระดับนโยบายตัดสินใจให้ปรับแบบก่อสร้างเป็นทางยกระดับ รฟท. จะต้องมีการจัดทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่ทั้งหมด เนื่องจากมีการปรับแบบ ส่วนงบก่อสร้างก็จะต้องเพิ่มขึ้นอีกหลายพันล้านบาท รวมทั้งอาจจะต้องมีการนำเสนอครม. ขอให้อนุมัติโครงการใหม่อีก เชื่อว่าอาจจะทำให้การดำเนินโครงการล่าช้าออกไปอีก 1 ปี

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ รฟท. ต้องรับข้อเสนอจังหวัดมาพิจารณา เพราะไม่ต้องการให้ปัญหาขยายใหญ่ออกไปมากกว่านี้ เนื่องจากทางจังหวัดคัดค้านรุนแรงมาก และหากเดินหน้าก่อสร้างตามแผนเดิมเชื่อว่าจะเกิดปัญหาในระยะยาว ไม่สามารถเข้าพื้นที่ไปก่อสร้างได้ ซึ่งจะเป็นปัญหาที่รุนแรงมากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน